กระทรวงสาธารณสุข ชู รพ.สงขลา พัฒนาโปรแกรมเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคระบาดแบบครบวงจร (All DC) นำร่องใช้กับ “โรคไข้เลือดออก” ในพื้นที่ อ.เมืองสงขลา ทำให้ได้ข้อมูลผู้ป่วยครบถ้วน บอกพิกัด แสดงรัศมีการระบาด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพควบคุมโรค อัตราป่วยไข้เลือดออกลดลง เจ้าหน้าที่พึงพอใจ สามารถปรับใช้กับโรคอุบัติใหม่และโรคอื่น ๆ ได้
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 66 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในอดีตการควบคุมโรคใช้การบันทึกข้อมูลลงกระดาษ สแกนส่งต่อผ่านอีเมล แล้วนำข้อมูลมาลงโปรแกรม Microsoft Excel คำนวณหาค่าตัวแปร แล้วส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานรับผิดชอบอีกต่อหนึ่ง จากนั้นลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรค ซึ่งต้องใช้เวลาในการหาตำแหน่งระบาด และใช้วิธีการปักหมุดลงบนแผนที่ ทำให้ไม่ทราบตำแหน่งระบาดที่ชัดเจน ทั้งนี้ การควบคุมโรคระบาดเป็นงานที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว ถูกต้อง และความแม่นยำของข้อมูลสนับสนุน โรงพยาบาลสงขลาจึงพัฒนาโปรแกรมเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคระบาดแบบครบวงจร (All DC) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานควบคุมโรค และลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร โดยออกแบบโปรแกรมการใช้งาน และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้งานโปรแกรมแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ จำนวน 30 คน รวม 21 แห่ง ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จ.สงขลาให้นำเข้าข้อมูลผู้ป่วยรายใหม่ผ่านระบบออนไลน์ โดยนำร่องทดลองใช้โปรแกรมกับโรคไข้เลือดออกก่อน
นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า โปรแกรมจะมีการแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ผ่านไลน์ เพื่อดำเนินการควบคุมโรค เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตามมาตรการควบคุมโรค และลงข้อมูลการควบคุมโรคผ่านโปรแกรม จากนั้นข้อมูลจะถูกสรุป ประมวลผล และรายงานผลในขั้นตอนเดียวผ่านระบบออนไลน์ โดยมีรายละเอียดผู้ป่วย พิกัดตำแหน่งผู้ป่วยผ่าน Google map สามารถรายงานรายละเอียด เช่น จำนวนบ้านในพื้นที่เกิดโรค วันรับรายงาน วันควบคุมโรค คำนวณค่าดัชนีลูกน้ำได้ทันที แสดงรัศมีการแพร่ระบาดของโรค ความชุกของโรคได้ในครั้งเดียว และติดตามผู้ป่วยด้วยระบบนำทางจากตำแหน่งพิกัดที่บันทึกไว้ รวมถึงแสดงกราฟเปรียบเทียบอัตราป่วย จำนวนผู้ป่วยสะสมในรายพื้นที่ และในแต่ละเดือนได้อย่างครบถ้วน ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่า รพ.สต. และศูนย์สุขภาพชุมชน (ศสช.) ทั้ง 21 แห่ง สามารถลงข้อมูลผู้ป่วย 873 คน ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ผลเปรียบเทียบอัตราป่วยไข้เลือดออกก่อนและหลังใช้โปรแกรม พบว่า อัตราผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลง เจ้าหน้าที่พอใจในระดับมาก ปัจจุบันโปรแกรมถูกนำไปขยายใช้ในหน่วยบริการมากขึ้น เป็นการช่วยลดขั้นตอน ลดการใช้ทรัพยากร และเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรค
“โปรแกรมสามารถเก็บข้อมูลโรคได้ทุกโรค โดยเพิ่มชื่อโรคและปรับปรุงโปรแกรมให้เหมาะสมกับโรคอุบัติใหม่ได้ โดยควรจัดอบรมเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดโปรแกรม และลงข้อมูลทีละเมนู ในช่วงแรกทุก 3 เดือน และต้องเปิดระบบนำทางในโทรศัพท์ก่อนใช้โปรแกรม เนื่องจากจะต้องใช้ในการบันทึกพิกัด ซึ่งต้องแน่ใจว่าพิกัดที่ได้เป็นพิกัดตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยกดซ้ำที่ขั้นตอนค้นหาตำแหน่ง ถือว่าเป็นโปรแกรมที่ช่วยส่งเสริมการทำงานควบคุมโรคในพื้นที่ได้อย่างดี สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการดำเนินงานบริการด้านสุขภาพ” นพ.รุ่งเรืองกล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 205 views