สสส. เร่งสานพลัง นักวิชาการ-เครือข่ายพ่อแม่-เยาวชน หนุนครอบครัวสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อเรื่องเพศ คุยเรื่องเพศกับลูก ลดโอกาสพลาดจากเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย แนะเคล็ดลับสำคัญ สร้างบรรยากาศเป็นมิตร เปิดใจเริ่มที่รับฟัง ไม่ตัดสิน
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ในการเสวนาเรื่อง “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องยากที่จะพูดในสังคมไทย ถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย หยาบคาย ไม่จำเป็นต้องสอน เดี๋ยวเด็กโตไปก็สามารถเรียนรู้ได้เอง ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดในวงสนทนาของครอบครัว หรือผู้ใหญ่กับเด็ก แท้ที่จริงไม่สามารถปิดกั้นความสนใจใคร่รู้ตามวัยของเด็กได้ บางคนเลือกที่จะค้นหาข้อมูลเรื่องเพศจากสื่อต่างๆ อาทิ อินเทอร์เน็ต รวมทั้งเพื่อน ซึ่งไม่รู้เลยว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นถูกต้อง หรือเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ความ "ไม่รู้” หรือ “ไม่เท่าทัน” เรื่องเพศของเด็ก ส่งผลให้เด็กกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบเมื่อมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการตั้งครรภ์
”ข้อมูลอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ในปี 2564 อยู่ที่ 24.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปีพันคน อีกทั้งปัญหาติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างซิฟิลิส ในปี 2564 มีอัตราป่วยในเยาวชนอายุ 15-24 ปี อยู่ที่ 50.5 ต่อประชากรอายุ 15-24 ปีแสนคน สูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากปี 2560 สอดคล้องกับข้อมูลการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอที่ค่อนข้างต่ำ การจัดเสวนาครั้งนี้ คาดหวังให้กลุ่มผู้ปกครอง พ่อแม่เห็นความสำคัญของการคุยเรื่องเพศอย่างเปิดใจ การสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว พร้อมแนะเทคนิคสำคัญในการสื่อสารกับลูก คือการรับฟังเพื่อสะท้อนความห่วงใย ไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด พูดคุยเหมือนเพื่อนที่ไว้ใจได้ ช่วยเป็นต้นทุนสำคัญให้สื่อสารเรื่องเพศกับลูกได้ง่ายขึ้น” นายชาติวุฒิ กล่าว
นายศิริพงษ์ เหล่านุกูล คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวและมีลูกกำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น กล่าวว่า ลูกชายเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ในวัย 11 ปี ทำให้การสนทนาพูดคุยระหว่างพ่อลูกเปลี่ยนไปตามวัย ลูกค่อนข้างเงียบขึ้น ไม่เหมือนวัยเด็กที่จะเล่าประสบการณ์ในโรงเรียนให้ฟังทุกคืนก่อนนอน ทำให้การเริ่มต้นบทสนทนา โดยเฉพาะเรื่องเพศ ต้องดูที่บรรยากาศว่าลูกกำลังทำอะไร ไม่ให้เกิดความรู้สึกอึดอัด เหมือนถูกบังคับให้ต้องพูดคุย จากนั้นใช้การเล่าประสบการณ์ของตัวเองก่อน เพื่อเปิดบทสนทนา เช่น วัยเด็กพ่อมีเพื่อนผู้หญิงแบบนี้ แล้วค่อยถามว่าในห้องเรียนของลูกมีเพื่อนผู้หญิงแบบไหน ลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วก็เล่าประสบการณ์ความรักของตนเองให้ลูกฟัง
“แต่ก่อนคิดเสมอว่า จะเริ่มต้นพูดเรื่องเพศกับลูกอย่างไรดี เคยถึงขั้นนำวิดีโอมาดู แต่ตอนหลังฉุกคิดได้ว่า การสื่อสารในครอบครัวเป็นบริบทเฉพาะ ไม่มีรูปแบบตายตัว โดยเคล็ดลับสำคัญ คือ ต้องสร้างความไว้วางใจ ขณะคุยต้องไม่สอน ไม่กดดัน ไม่ตำหนิ และแชร์ประสบการณ์ของตน นอกจากผู้ปกครองจะสามารถสื่อสารเรื่องเพศกับลูกได้อย่างใกล้ชิดแล้ว คนสำคัญถัดไป คือ ครูในโรงเรียน เพราะสำหรับเด็กครูบางคนคือไอดอล” นายศิริพงษ์ กล่าว
นายซาหดัม แวยูโซ๊ะ เยาวชนจากกลุ่มลูกเหรียง กล่าวว่า ปกติเมื่อมีปัญหา หรือสงสัยเรื่องเพศ ทั้งทางกาย จากร่างกายที่เปลี่ยนไป หรือความรู้สึก จะเลือกปรึกษาเพื่อนสนิท หรือครู เพราะกล้าที่จะเปิดเผยมากกว่า โดยเฉพาะกับเพื่อน เพราะรู้สึกสบายใจ ไม่กดดัน ไม่ถูกตำหนิ ทำให้รู้สึกปลอดภัย ไม่เหมือนสอบถามกับพ่อแม่ ที่ตัวเราคิดว่า พ่อแม่ไม่ทันสมัย ไม่เข้าใจวัยรุ่น หากจะให้กล้าพูดคุยกับพ่อแม่ ก็อยากให้พ่อแม่เลือกบรรยากาศและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสนทนากับลูก เช่น ชมข่าว หรือดูละครร่วมกัน แล้วมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้เป็นโอกาสที่ดีในการสนทนา และขอให้ใจเย็น อย่ากดดัน ตำหนิ หรืออย่าพยายามให้ลูกตอบคำถาม เพราะบางครั้งการสื่อของเด็กอาจเป็นประโยคบอกเล่า เช่น มีแฟนแล้วนะ แต่ถ้าพ่อแม่สวนว่า ทำไมรีบมี ยังเด็กอยู่เลย บทสนทนาจะจบทันที อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถพูดคุยกับเพื่อน หรือครูได้ ก็อยากให้มีแอปพลิเคชั่น หรือ แชทไลน์ของหน่วยงานรัฐ ที่จะให้บริการช่วยเหลือ รับฟัง ให้คำปรึกษา รวมถึงแนะนำเรื่องเพศ โดยไม่ซักถามตัวตนของเยาวชน เพื่อให้เด็กกล้าเล่า กล้าคุย
น.ส.อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กเละเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า แนวโน้มสถิติเด็กและเยาวชนลดลงทุกปี จากข้อมูลของกรมการปกครอง พบว่า ในปี 2565 มีจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 13 ล้านคน หรือ 19.7% ส่วนเด็ก 18-25 ปี มี 6.8 ล้านคน หรือ 10.3% หากรวมเด็กทั้ง 2 กลุ่ม จะมีสัดส่วน 30% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่รูปแบบของโครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนเป็นครอบครัวข้ามรุ่น และแหว่งกลาง คือ ผู้สูงอายุต้องดูแลเด็ก คาดว่าในปี 2583 จะเพิ่มขึ้นถึง 15% จากปี 2562 อยู่ที่ 13.7% ทำให้เป็นส่วนสำคัญของอุปสรรคในการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว ส่วนปัญหาครอบครัวที่พบมากที่สุด คือ เด็กอาศัยในครอบครัวยากจนที่มีรายได้เส้นแบ่งความยากจนต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน ถึง 10.1% รองลงมาพ่อแม่มีปัญหาจิตเวช ปัญหาที่อยู่อาศัยของเด็กไม่ปลอดภัย ทั้งความแออัด ห้องน้ำรวมกัน โควิด -19 และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้เด็กก้าวตามไม่ทัน หลงเป็นเหยื่อในสื่อออนไลน์ และสารเสพติด ทางกรมกิจการฯ ได้เข้าช่วยเหลือนำเงินอุดหนุนให้กับครอบครัวเด็กแรกเกิด รายละ 600 บาท โดยมีแม่วัยรุ่นมาลงทะเบียนมากถึง 300,000 คน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 392 views