ทุกคนทราบดีว่าการออกกำลังกายมือประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไม่ต้องสงสัย ทว่าในยุคที่มลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM2.5 กำลังครองเมืองในบ้านเรา อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า “การไม่ออกกำลังกาย” กับ “การออกกำลังกายในวันที่อากาศไม่ดี” อย่างไหนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่ากัน
ผลการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ใน European Heart Journal ทำการศึกษาชั่งน้ำหนักกันระหว่างประโยชต์ต่อสุขภาพของการออกกำลังกาย และอันตรายจากมลพิษทางอากาศจากการออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเน้นที่คนวัย 20-39 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรง พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ที่ระดับมลพิษทางอากาศต่ำถึงปานกลางที่ลดการออกกำลังกาย จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
และเมื่อคนกลุ่มนี้เพิ่มระดับการออกกำลังกาย ความเสี่ยงในการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดก็จะลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประโยชน์ของการออกกำลังกายมีมากกว่าความเสี่ยงจากการหายใจเอามลพิษทางอากาศในระดับต่ำถึงปานกลางเข้าไป
อย่างไรก็ดี หากมลพิษทางอากาศพุ่งสูงเกินกว่าระดับปานกลาง การออกกำลังกายมากขึ้นทำให้เสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น ดังนั้นความเสี่ยงของการหายใจเอาอนุภาคที่เป็นอันตรายเข้าไปจึงมีมากกว่าประโยชน์จากของการออกกำลังกาย
ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายกลางแจ้งในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง เนื่องจากการหายใจเข้าออกที่เร็วขึ้นจะทำให้มีอนุภาคอันตรายเข้าสู่ปอดในปริมาณมากขึ้น โดยขณะที่เรากำลังวิ่ง เราจะหายใจเอาอากาศเข้าปอดเพิ่มขึ้นจากราว 15 ลิตรต่อ 1 นาที เป็น 100 ลิตรต่อ 1 นาที
นอกจากอันตรายต่อปอดแล้ว ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่า นักวิ่งมาราธอนจะวิ่งได้ช้าลงในที่ที่มีมลพิษทางอากาศมากกว่า โดยนักวิจัยจาก Southwestern University of Finance and Economics ในเมืองเฉิงตูของจีนวิเคราะห์ประสิทธิภาพการวิ่งของนักวิ่งมาราธอนกว่า 300,000 คนในการแข่งขัน 56 ครั้งในจีนระหว่างปี 2014-2015 โดยเปรียบเทียบเวลาที่วิ่งเข้าเส้นชัยกับดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ในแต่ละวัน และได้ข้อสรุปว่า ทุกๆ 2 เท่าของ AQI ที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มเวลาที่นักวิ่งใช้ในการเข้าเส้นชัย 4%
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ คือ นักวิ่งที่ทำเวลาได้ดีที่สุดในการศึกษาวิจัยใช้เวลาในการวิ่งมาราธอนในเมืองที่ AQI เท่ากับ 105 (AQI มากกว่า 100 บ่งชี้ถึงอันตรายที่ซ่อนอยู่ในอากาศ) 2 ชั่วโมง 18 นาที 21 วินาที ขณะที่นักวิ่งคนเดียวกันใช้เวลามากกว่าเดิมถึง 9.9 นาทีเพื่อเข้าเส้นชัยในการวิ่งปักกิ่งมาราธอนซึ่งค่า AQI ทะยานไปถึง 216 เมื่อจบการแข่งขัน
อันที่จริงปักกิ่งมาราธอนในครั้งนั้นคือปี 2014 กลายเป็นข่าวใหญ่ เนื่องจากสภาพอากาศที่อันตรายทำให้นักวิ่งหลายคนเลือกสวมหน้ากากอนามัย
นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยต่อยอดยังบ่งชี้ว่า มลพิษจากอนุภาคอันตรายในระดับสูงไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเวลาของนักวิ่งเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในระยะยาวอีกด้วย
พูดถึงการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 ขณะออกกำลังกายกลางแจ้ง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าหน้ากากอนามัยที่ดีที่สุดคือ N95/N99 ที่ป้องกันไม่ให้อนุภาคเล็กๆ เข้าสู่ปอด ทว่าผู้เชี่ยวชาญบอกต่อว่า ไม่แนะนำให้สวมหน้ากากขณะวิ่ง เพราะจะทำให้ขาดออกซิเจนจนนำมาสู่อาการหายใจไม่อิ่มได้
ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Preventive Medicine พบว่า คนสุขภาพดีที่ออกกำลังกายที่ใช้แรงหนัก (high intensity) กลางแจ้งในพื้นที่ที่ระดับมลพิษทางอากาศต่ำหรือสูงเจอกับผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าการออกกำลังกายที่ใช้แรงน้อย (low intensity) สำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหายใจ โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด การออกกำลังกายที่ใช้แรงน้อยอย่างการเดินก็อาจทำให้ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศยิ่งรุนแรงขึ้น
ทว่าอีกไม่นานคนไทยที่รักชอบการออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นชีวิตจิตใจอาจจะต้องอิจฉาคนดูไบ เพราะดูไบกำลังจะกลายเป็นเมืองศูนย์กลางสำหรับความยั่งยืนและการมีสุขภาพดีไปพร้อมๆ กันด้วยโครงการสร้างอุโมงค์ทางหลวงที่ยั่งยืนและสามารถควบคุมสภาพอากาศได้สำหรับเดิน วิ่ง และปั่นจักรยานเป็นระยะทางยาวถึง 93 กิโลเมตร
บาฮารัช บาเกอร์เรียน ซีอีโอของ URB ผู้ออกแบบกล่าวว่า หากสร้างขึ้น “The Loop” จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการปั่นจักรยานและการวิ่งที่ “ฉลาดที่สุด” ที่ใดก็ได้ในโลก โดยโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ดูไบกลายเป็นเมืองที่มีการเชื่อมต่อมากที่สุดในโลกด้วยการเดินหรือปั่นจักรยาน
โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นี้ถูกออกแบบให้โอบล้อมรอบดูไบ โดยจะมี "ทางเดินสีเขียว" ปลอดรถยนต์ ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้และพันธุ์ไม้สำหรับผู้อยู่อาศัยในการเดินหรือปั่นจักรยานรอบเมือง คาดว่าจะพร้อมใช้งานในปี 2040
นั่นหมายความว่าคนดูไบจะออกกำลังกายได้อย่างสบายใจไร้ปัญหาฝุ่น PM2.5 กวนใจกวนปอด แถมยังเชื่อมต่อกับการเดินทางจุดสำคัญๆ ของเมืองได้ภายใน 20 นาทีอีกด้วย
ภาพจาก https://urb.ae/projects/theloop/
- 289 views