ผอ.รพ.นพรัตน์ฯ เผย ผลกระทบฝุ่น PM2.5 ส่วนใหญ่ เป็นโรคทางเดินหายใจ ระคายเคืองตา ระคายผิวหนัง ห่วงคนไทยเฉย รับมือฝุ่น ชี้ทฤษฎีมีโอกาสก่อโรคระยะยาว ต้องเผยแพร่ความรู้เพื่อให้ประชาชนได้ดูแลตัวเอง วอนบังคับใช้กฎหมายจริงจังจัดการต้นตอเกิดฝุ่น
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการ รพ.นพรัตน์ราชธานี กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยเข้ารับการดูแลที่คลินิกมลพิษ รพ.นพรัตน์ราชธานี ว่า ขณะนี้ผู้ป่วยที่เข้ารักษาคลินิกมลพิษในพื้นที่กรุงเทพ ยังมีไม่มาก แต่ในต่างจังหวัดพบเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเรามีระบบการคัดกรองก่อนส่งเข้าไปยังคลินิกฯ โดยพบว่ามีผู้ป่วยเข้ามาที่ รพ.นพรัตน์ ประมาณ 200 ราย แต่คัดกรองโดยอายุรแพทย์ แล้วต้องส่งต่อเข้าคลินิกมลพิษ 30 คน ในจำนวนนี้เมื่อตรวจวิเคราะห์ด้วยหลักการอาชีวเวชศาสตร์แล้วพบว่าเป็นผลกระทบมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จำนวน 7 ราย ส่วนใหญ่มาด้วยอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตา ระคายผิวหนัง เป็นต้น ยังไม่มีอาการรุนแรง
ผอ.รพ.นพรัตน์ราชธานี กล่าวว่า ส่วนกรณีพบว่าเลือดออกโพรงจมูก หรือมีเลือดกำเดาไหล ตามที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก และระบุว่าเกิดจาก PM 2.5 นั้นเนื่องจากทางแพทย์ไม่ได้เห็นเคสจริง ๆ การจะบอกว่า ไม่ได้เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ก็พูดไม่ได้ ถ้าหากประชาชนสงสัยก็เข้ามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยร่วมกันจึงจะสามารถบอกได้อย่างละเอียดว่าเกิดจากฝุ่น PM 2.5 จริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะมีปัญหาสุขภาพเดิมอยู่แล้ว แล้วฝุ่น PM 2.5 ไปทำให้อาการรุนแรงขึ้น หรือการที่เลือดออกจมูกนั้นอาจจะเกิดจากการล้วง แคะ แกะ เกา จนเกิดแผลหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้แม้คนปกติก็เกิดขึ้นได้แต่มีจำนวนน้อย แต่อีกแง่หนึ่งการมีฝุ่นอาจทำให้ระคายเคืองจึงต้องแคะ แกะ เกา ก็ได้
นพ.สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กรณีที่เข้ามาที่คลินิกมลพิษเป็นเพียงผลกระทบกับสุขภาพระยะสั้นเท่านั้น ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาว ยังเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขจะต้องให้คำแนะนำกับประชาชน เพราะในทางทฤษฎีแล้วฝุ่น PM 2.5 สามารถก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมาได้ ไม่ว่าจะโรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือกระทบกับหญิงตั้งครรภ์ หรือมีโอกาสเป็นสารก่อมะเร็งได้ แต่ในทางปฏิบัติเรายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าในรายที่มีเส้นเลือดสมองตีบ ตัน หรือมีการคลอดผิดปกติ หรือมีปัญหากับทารก หรือว่าโรคมะเร็งต่าง ๆ นั้นเกิดจาก PM 2.5 หรือไม่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีทฤษฎีออกมาก็ต้องเผยแพร่ความรู้เพื่อให้ประชาชนได้ดูแลตัวเอง
“ปีนี้ไม่เหมือนปีที่แล้ว ที่ประชาชนสวมหน้ากากเยอะมาก เพราะว่าตกใจกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 แต่ ณ วันนี้ปัญหาฝุ่นไม่ได้น้อยลง แต่เขาจะรู้สึกว่ารับมือได้ อีกทั้งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้นอย่างที่พบที่คลินิกก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดได้กับทุกคน จึงอาจจะไม่ได้ดูแลใส่ใจสุขภาพเท่าที่ควร” ผอ.รพ.นพรัตน์ราชธานี กล่าว
นพ.สมบูรณ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ทั้งทุ่มเท และทุ่มทุน แต่ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาปลายทางเท่านั้น แต่ต้นทางคือจุดกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 คือการเผา เรื่องจราจร ต้องได้รับการแก้ไขด้วย ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน แต่การปลุกจิตสำนึกให้คนช่วยกันลดฝุ่นนั้นอาจจะได้ผลไม่เร็วนัก ตนมองว่าควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การจับรถที่ปล่อยควันดำ ต้องจับจริงลงโทษจริง โดยประชาชนมีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือก็ถ่ายคลิปรถควันดำส่งเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อดำเนินการเอาผิด พอจับ ปรับได้แล้วก็ให้รางวัลประชาชนที่ส่งหลักฐานด้วย เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่ขับรถจะรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับจ้องตลอดเวลาก็จะดูแลสภาพเครื่องยนต์ของตัวเองให้เป็นไปตามกฎหมายไม่ปล่อยมลพิษ เป็นต้น
- 31 views