รพ.นพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ เตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศไทย ทําให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนซึ่งมีผลต่อสุขภาพและทําให้เกิดโรคลมแดด ตะคริวจากความร้อน แนะนำดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดและไม่ควรออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสภาพอากาศของประเทศไทยซึ่งทุกภูมิภาครวมทั้งกรุงเทพมหานคร มีอากาศร้อนเพิ่มสูงขึ้น จึงขอเตือนกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคจากคลื่นความร้อนได้ง่าย ได้แก่
1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย ผู้ใช้แรงงาน ก่อสร้าง เกษตรกร 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ร่างกายจะเสียความสามารถในการขับเหงื่อ และทําให้เกิดอาการเพลียแดด (Heat exhaustion) กลายเป็นโรคลมแดด (Heat stroke) ซึ่งอันตรายยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกจะมีเหงื่อออกจำนวนมากทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น มีผลต่อระบบประสาททำให้หมดสติ เพลีย มึนงง ปวดศีรษะ เมื่อความร้อนในร่างกายขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ระบบประสาทและระบบหลอดเลือดจะได้รับผลกระทบมากและเป็นลมในเวลาต่อมา นอกจากนี้จะมีผื่นแดด และตะคริวจากความร้อนเป็นอาการเบื้องต้น ซึ่งถ้าไม่ดูแลตัวเองจะมีอาการมากขึ้น
สำหรับการป้องกันควรดื่มน้ำมากๆ ไม่ดื่มสุรา คาเฟอีน หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมน้ำตาลจำนวนมาก หรือควรดื่มน้ำเกลือแร่บ้าง สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายไม่รัดรูปหรือทำให้อึดอัด ถ้าต้องออกกลางแจ้งควรสวมหมวกที่มีขอบบังแดดและแว่นกันแดด พยายามอยู่ในที่ร่ม การใช้เครื่องปรับอากาศจะช่วยได้ เพราะพัดลมจะพัดเอาอากาศร้อนมาทําให้ร่างกายร้อนขึ้น หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ควรออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน และสำคัญอย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจนรู้สึกกระหายหรือริมฝีปากแห้ง ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนไปทำงานกลางแจ้งในวันที่มีอากาศร้อน
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า กลุ่มงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี แนะนำการป้องกันและปฐมพยาบาลผู้ที่เป็นลมแดด (Heat stroke) เมื่อพบเห็นผู้ที่กำลังจะเป็นลม ให้นำตัวผู้ป่วยเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง คลายเสื้อผ้าออก เพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวกขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยยังพอรู้สึกตัวและสามารถหายใจได้เอง อาจจัดให้นอนในท่าตะแคง เพื่อให้หายใจได้สะดวก หลังจากนั้นหาผ้าชุบน้ำเย็น เช็ดตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน และศีรษะ เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย พร้อมกับเปิดพัดลมระบายความร้อนถ้ามี พยายามเช็ดตัวผู้ป่วยบ่อยๆ และเปลี่ยนน้ำที่ใช้เช็ดตัวบ่อยครั้ง เพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง หลังจากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
- 324 views