รพ.นพรัตนราชธานีเตือน ออฟฟิศซินโดรม กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ทำให้ง่วงนอน ส่งผลให้เกิดโรคและอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า “กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม” (Office syndrome) คืออาการที่มักเกิดขึ้นกับคนวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวัน ไม่มีการออกกำลังกายเป็นประจำ และมีสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่เหมาะสมการระบายอากาศไม่ดี จึงส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ รวมไปถึงการปวดหลังเรื้อรังจากการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ทำให้ง่วงนอน และหากมีความเครียดจะส่งผลให้โรคนี้รุนแรงมากขึ้น เช่น เป็นไมเกรนหรือปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดตา หน้ามืด เป็นต้น
นอกจากนี้อาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ทั้งนี้กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ยังรวมไปถึงระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ เนื่องจากการทำงานอยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เครื่องปรับอากาศไม่สะอาด รวมไปถึงสารเคมีจากหมึกของเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องแฟกซ์ และเครื่องพิมพ์เอกสาร ซึ่งวนเวียนอยู่ภายในห้องทำงานอีกด้วย
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการดูแลรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม คือ การรักษาตามอาการอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา เพียงปรับเปลี่ยนอิริยาบถ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีความรุนแรงมากขึ้นอาจให้ยาบรรเทาอาการหรือได้รับการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ในทางการแพทย์ปัจจุบันมีทั้งการผ่าตัดเพื่อรักษาที่สาเหตุของโรคหรือให้ยาบรรเทาอาการทั้งในรูปแบบการฉีดยาหรือรับประทานยา เนื่องจากกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม การป้องกันสามารถทำได้โดย
1.การทำความสะอาดออฟฟิศ หากใช้พรมปูพื้นควรทำความสะอาดพรมอย่างน้อยทุกเดือน
2.การทำงานกับคอมพิวเตอร์ควรพักสายตา เปลี่ยนอิริยาบถ พักเบรกยืดเส้นยืดสายระหว่างการทำงาน โดยลุกขึ้นยืนเดินไปมา
3.ไม่ควรถ่ายเอกสารในออฟฟิศ ควรตั้งเครื่องถ่ายไว้ภายนอก
4.ดูแลเครื่องปรับอากาศโดยการล้างไส้กรองอากาศบ่อยๆ
5.ทำงานในสถานที่ มีแสงสว่างเพียงพอ อุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่เย็นหรือร้อนเกินไป
ทั้งนี้ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้จัดตั้งคลินิกอาชีวเวชศาสตร์เพื่อให้การรักษาผู้ที่ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน หากสงสัย “เกี่ยวกับอาการออฟฟิศซินโดรม” (Office syndrome) สามารถปรึกษาได้ที่คลินิกดังกล่าว หรือสอบถามได้ที่สายด่วน 02 517 4333 ในวันและเวลาราชการ
- 687 views