จริงหรือมั่ว! โรคมะเร็งหลอดเลือดเกิดขึ้นได้ หากกินแล้วนอน แล้วพฤติกรรมนี้จะเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง

ตามที่มีการแชร์ข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องโรคมะเร็งหลอดเลือดเกิดขึ้นได้ หากกินแล้วนอน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ พร้อมชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่าการกินแล้วนอนเสี่ยงเกิดเป็นโรคมะเร็งหลอดเลือด ซึ่งพฤติกรรมกินแล้วนอนเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายด้าน โดยเฉพาะอาการแสบร้อนกลางอกและอาการกรดไหลย้อน

อาการเหล่านี้เกิดจากภาวะที่หูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร (Lower Esophageal Sphincter – LES) ทำงานผิดปกติทำให้กรดหรือน้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในบริเวณหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบเรื้อรังบริเวณหลอดอาหารและบริเวณกล่องเสียงได้ นอกจากนี้พฤติกรรมกินแล้วนอนอาจส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคอ้วน

โรคกรดไหลย้อน อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดได้ว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร เพราะมีอาการคล้ายกัน แต่สาเหตุสำคัญของกรดไหลย้อน เกิดจากการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารหย่อนตัวลง น้ำย่อยหรือกรดสามารถไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารได้ จากปกติที่ร่างกายของคนเรา เมื่อกลืนอาหารลงไปแล้ว หูรูดจะทำหน้าที่คลายตัวเพื่อเปิดทางให้อาหารไหลผ่านลงไปในกระเพาะอาหาร เมื่อผ่านลงสู่กระเพาะอาหารแล้ว หูรูดจะหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร คล้ายประตูกันไม่ให้อาหารกรดหรือด่างไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหาร

อาการของกรดไหลย้อนมีตั้งแต่ กลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บคอ อาเจียนบ่อย น้ำหนักลด อาจอาเจียนเป็นเลือดหรือมีอาการซีด หากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน จะกลายเป็นเรื้อรัง พบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทำให้หลอดอาหารส่วนปลายมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดเป็นมะเร็งในหลอดอาหารส่วนปลายได้ในอนาคต จึงอาจเป็นได้ว่า เมื่อไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกินแล้วนอนบ่อย ๆ ทำซ้ำเป็นประจำทุกวัน จนเกิดกรดไหลย้อนขึ้นมา อาจนำสู่โรคมะเร็งในหลอดอาหารส่วนปลาย ไม่ใช่โรคมะเร็งหลอดเลือด

วิธีป้องกันและแก้ไขที่ดีที่สุด คือ การปรับพฤติกรรม ลดการบริโภคไม่เหมาะสม ลดของมัน ลดการดื่มชากาแฟ น้ำอัดลม ไม่กินช็อกโกแลตมากเกินไป งดสูบบุหรี่ รับประทานอาหารให้เป็นเวลาครบทุกมื้อ มื้อละไม่ต้องมาก แค่พออิ่มเพื่อให้มีอาหารในกระเพาะอย่างสม่ำเสมอร่างกายจะย่อยอาหารได้หมด และเว้นระยะเวลาการรับประทานอาหารและการนอนให้ห่างกันอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมง  

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org