หลายปีมาแล้วที่มีการพูดถึงการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่  Medical Hub หรือการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หลังเล็งเห็นโอกาสและศักยภาพทางการแพทย์จากที่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาใช้บริการจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี กระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 ยุทธศาสตร์ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอย่างจริงจังเพื่อขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ตามความต้องการของตลาดโลก

รายงานจากเว็บไซต์ researchandmarkets.com ระบุว่า มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลกคาดว่าจะสูงถึง 97.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.29 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 32.51% จึงไม่แปลกที่รัฐบาลและภาคเอกชนในอุตสหกรรมการท่องเที่ยวหันมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับมาตรฐานสถานพยาบาลในพื้นที่ท่องเที่ยว การเปิดคลินิกสุขภาพในโรงแรม หรือการพัฒนาแผนแพทย์ไทย เน้นกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามมีการตั้งคำถามว่า “ไทยดีพอจะเป็นเมดิคัล ฮับได้จริงหรือ?”

Hfocus มีโอกาสได้พูดคุยกับ นพ.ธีรภพ ไวประดับ ศัลยแพทย์เต้านมเฉพาะทางและเจ้าของเพจ หมออู๋ ธีรภพ Idel Breast เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในเรื่องนี้และแนวทางการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่จุดนั้น

 

๐ เมืองไทยเป็นเมดิคัล ฮับได้ แต่มีอุปสรรคสูง

2-3 ปีที่ผ่านมามีการพูดถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นเมดิคัล ฮับ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างกว้างขวาง ในฐานะคนในวงการ หมออู๋ มองว่ามีความเป็นไปได้สูง ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเทียบกับ 10 ปีก่อน Mindset ในเรื่องศัลยกรรมเปลี่ยนไปมากโดยเฉพาะในเอเชีย การศัลยกรรมกลายเป็นเรื่องปกติ ขณะเดียวกันกราฟการเติบโตเกี่ยวกับศัลยกรรมความงามสูงขึ้นมาก

“เท่าที่ทราบและฟังข้อมูลมามีเม็ดเงินถึง 5-6 หมื่นล้านต่อปี และน่าจะแตะแสนล้านได้ในอนาคต เห็นได้ว่ารพ.ศัลยกรรมตกแต่งผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในช่วงที่ผ่านมา เพราะมีดีมานด์เยอะและมีเงินหมุนค่อนข้างดี ส่วนฝีมือแพทย์ของเราในปัจจุบันก็ไม่เป็นรองเกาหลีเลย จริงๆ แล้วแพทย์ระดับเวิลด์คลาสของไทยมีเยอะนะ โดยเฉพาะด้านศัลยกรรมแปลงเพศของเราดังมาก มีหมอเก่งๆ มีการต้อนรับที่ดีอยู่แล้ว มีจุดแข็งหลายๆ อย่าง ทั้งอาหาร ศิลปะวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวที่ไปด้วยกันได้หมด”

เพียงแต่ขาดการสนับสนุนอย่างเต็มที่และล้อไปในทิศทางเดียวกัน

หมออู๋ มองว่าตอนนี้ภาคส่วนเอกชนทำเต็มที่กันอยู่แล้วในแง่ของธุรกิจ แต่ถ้าจะผลักดันให้เป็นฮับ รัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังและมองไปในทิศทางเดียวกัน เหมือนอย่างเกาหลีใต้ที่ผลักดันเต็มที่และล้อไปกับธุรกิจอื่น เช่น ซีรีส์เกาหลี ขณะเดียวกันภาคเอกชนเอง รพ.ต่างๆ ก็ต้องร่วมมือกันไม่ตีกัน

“รัฐบาลต้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพ จัดการให้ทุกคนวิน-วิน เรียกผู้ประกอบการทั้งหมดมาคุยและวางกลยุทธ์ ต้องมีวิสัยทัศน์ว่าจะไปด้วยกันอย่างไร และสนับสนุนในสิ่งที่พวกเขาต้องการ เช่น วีซ่า ทำให้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น สร้างแรงจูงใจบุคลากรด้วยภาษี เป็นต้น หากทำได้จะสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้มหาศาล และสร้างงาน สร้างอาชีพได้อีกมาก”

(นพ.ธีรภพ ไวประดับ)

 

๐ ใช้กฎหมายควบคุมคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานสากล

สิ่งที่รัฐบาลควรทำเลยคือการเข้ามาดูปัญหาที่มีวงการศัลยกรรมตกแต่งตอนนี้มีอะไรบ้าง เช่น เรื่องคุณภาพ หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน แล้วแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่รอให้เกิดเหตุแล้วไปตรวจเช็กทีหนึ่ง และเช็กแค่ที่เดียว

นพ.ธีรภพ บอกว่าปัจจุบันแพทย์ด้านความงามมีเยอะมาก คนที่จบมาทางศัลยกรรมตกแต่งไม่มีปัญหาทำได้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีแพทย์เฉพาะทางหันมาทำด้านนี้มากขึ้นด้วย เช่น หมอตามาทำคลินิกความงามเกี่ยวกับตา บางคนผ่านการฝึกฝนและจบวอร์ดมาแล้ว แต่บางคนแค่ไปดูงานที่เกาหลีแล้วกลับมาทำเลย ซึ่งอาจมีผลต่อคุณภาพและผลที่จะตามมา เช่นเดียวกับเรื่องมาตรฐานของสถานพยาบาล

“บางเคสเป็นผ่าตัดใหญ่ไม่ควรทำในคลินิก เช่น การผ่าตัดที่ต้องดมยาสลบ ควรทำในมาตรฐานโรงพยาบาล แม้จะมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย แต่ก็ไม่มีทีมสนับสนุนเหมือนในโรงพยาบาลกรณีมีปัญหาเกิดขึ้นขณะผ่าตัด เช่น ไม่มีไอซียู ไม่มีหมอโรควิกฤต” หมออู๋ กล่าว

หากรัฐบาลเข้ามาควบคุมแพทย์และสถานพยาบาลให้ได้มาตรฐาน พวกเขาจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่สามารถแข่งขันในด้านราคาด้วยคุณภาพต่ำได้ ต้องยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อมาตรฐานที่ปลอดภัยสำหรับคนไข้มากขึ้นด้วย

 

๐ ศัลยกรรมตกแต่งทั้งที อย่ามุ่งผลแค่ราคา

นั่นเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่หมออู่ ไม่คิดเปิดคลินิก แต่เลือกเปิดเพจส่วนตัวรับปรึกษาคนไข้และไปผ่าตัดที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันก็มีความสนใจในนวัตกรรมและหาเทคนิกใหม่ๆ เพื่อให้คนไข้ได้ประโยชน์มากที่สุด อย่าง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นผู้บุกเบิกคนแรกในเมืองไทยที่นำตาข่ายที่ใช้ในการเสริมสร้างหน้าอกในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมาประยุกต์ใช้ในเรื่องศัลยกรรมตกแต่งเสริมหน้าอก

ส่วนปีนี้จะทำเรื่องเทคนิคการเติมไขมัน โดยเอาอัลตราซาวด์ไกด์มาใช้เพื่อให้เห็นตำแหน่งเข็มและซิลิโคนระหว่างการทำ เพื่อความปอลดภัยของคนไข้มากขึ้น

คุณหมอย้ำด้วยว่า เมื่อเลือกจะผ่าตัดคือการทำสิ่งที่ผิดธรรมชาติอยู่แล้ว คนไข้จะต้องยอมรับผลว่าอาจเกิดอะไรขึ้นได้ และรับผิดชอบตัวเองระดับหนึ่งด้วยการหาข้อมูล ศึกษาให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ การพบแพทย์หลายๆ คนอาจได้มุมมองและคำแนะนำไม่เหมือนกัน มีข้อเปรียบเทียบในการนำมาหาข้อสรุปของตัวเองและเลือกได้

“ทำอะไรแล้วเรามีความสุขทำเลย ถ้าทำแล้วสวยขึ้น หล่อขึ้น บุคลิกดีขึ้น เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าทางสังคม ไม่ใช่เรื่องผิด ทำแล้วชีวิตดีขึ้นทำไปเลย เพียงแต่ก่อนทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นตา จมูก หน้าอก ควรหาข้อมูลพิจารณา ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ละเอียด บอกความต้องการให้ชัด อย่าไปมุ่งผลเรื่องราคาอย่างเดียว เพราะอาจจะได้สิ่งที่ไม่มีคุณภาพ ทำแล้วต้องลุ้นว่าจะเกิดปัญหาหรือไม่” หมออู๋ ฝากทิ้งท้าย

๐ ไทยรั้งอันดับ 17 โลกดัชนีท่องเที่ยวทางการแพทย์

ข้อมูลจาก statista บริษัทผู้ให้บริการชั้นนำด้านข้อมูลการตลาดและผู้บริโภค ระบุว่า ในปี 2562 การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 แสนล้านบาท) และคาดว่าจะสูงถึงประมาณ 24.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.2 พันล้านบาท) ในปี 2570 โดยหนึ่งในจุดหมายปลายทางชั้นนำ ล่าสุดขยับรั้งอันดับ 17 ของโลกจากดัชนีรวมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ปี 2020-2021 ด้วยคะแนน 66.83 คะแนน แต่หากพิจารณาเฉพาะตัวชี้วัดเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ประเทศไทยรั้งอันดับ 5 ของโลก

นอกจากความนิยมในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวจะช่วยเพิ่มการเติบโตของตลาดแล้ว จำนวนสถานพยาบาลเอกชนที่เพิ่มขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาลโดยรวม และราคาการรักษาที่ค่อนข้างถูก รวมถึงคุณภาพการดูแลและการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความสะดวกสบายราวกับโรงแรม ล้วนมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศ

ทั้งนี้วงการแพทย์ของไทยได้รับความนิยมทางด้านศัลยกรรมความงาม และมีชื่อเสียงมากที่สุดในกลุ่มประเทศสหรัฐ แคนาดา ตะวันออกกลาง ยุโรป เวียดนามและลาว โดยการรักษาในไทยมีราคาถูกกว่า 50-80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสหรัฐ แคนาดาและยุโรป