กรมอนามัย แนะ สังเกตฉลาก ลดเสี่ยงนำขนมที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้าบ้าน ย้ำ ผู้ประกอบการ ต้องติดข้อความหรือฉลากให้ชัดเจน
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนสังเกตฉลากอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชาก่อนซื้อ เพื่อลดเสี่ยงนำขนมเข้าบ้าน หรือนำไปฝากผู้อื่น ป้องกันการสี่ยงแพ้รุนแรงได้ พร้อมย้ำผู้ประกอบการ ผลิตและจำหน่ายอาหารมีส่วนผสมของกัญชา หรือกัญชง ควรปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับวิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จอย่างเคร่งครัด
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีเด็กหญิงวัย 8 ขวบแพ้เยลลี่ที่มีส่วนผสมของกัญชาอย่างรุนแรง อาเจียนหนัก ซึมนอนหลับ แม่ระบุญาติซื้อเยลลี่มาฝาก ไม่รู้มีกัญชา เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคควรเลือกซื้ออาหารจากสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ และอาหารที่อยู่ในภาชนะบรรจุปิดสนิทต้องแสดงฉลาก ได้แก่ มีเลขสารระบบอาหารในเครื่องหมาย อย. (เลข 13 หลัก) สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ และรายละเอียดส่วนผสมอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการได้รับกัญชาเข้าสู่ร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และผู้ที่มีอาการแพ้กัญชาที่เสี่ยงแพ้รุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยอยากย้ำเตือนผู้ประกอบอาหารและร้านอาหาร ต้องปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อผู้ที่จะแพ้กัญชา จนอาจมีอาการแพ้รุนแรงได้ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่2) พ.ศ. 2565 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2565 เพื่อยกระดับประกาศกรมอนามัยที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ ให้มีสภาพบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จที่นำกัญชา หรือกัญชง มาใช้ทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารเพื่อจำหน่าย สร้างความปลอดภัยและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและร้านอาหารต้องดำเนินการ คือ 1) แสดงข้อความ หรือป้ายสัญลักษณ์ว่าเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จ 2) แสดงรายการอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จทั้งหมด 3) แสดงข้อแนะนำความปลอดภัยในการบริโภคอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบ โดยแสดงข้อความ “บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ควรงดเว้นรับประทาน” “ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที และถ้ามีอาการรุนแรง ให้ปรึกษาหรือพบแพทย์โดยเร็ว” “ผู้ที่แพ้กัญชา หรือกัญชง ควรงดเว้นรับประทาน” เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้า เพื่อลดอาการแพ้ที่จะตามมาจากการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา หรือกัญชง โดยไม่มีสัญลักษณ์บอกอย่างชัดเจน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 246 views