ผู้แทนพรรคการเมืองร่วมแสดงจุดยืน “บุหรี่ไฟฟ้า” อันตรายต่อเยาวชน ด้านพรรคชาติไทยพัฒนา ชูนโยบาย “สุขภาพดีมีเงินคืน 3,000 บาท” ส่วนโฆษกพรรคเสรีรวมไทย ไม่หนุนให้ถูก กม. เผยกรณีคำถามกัญชาอิสระ ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ ชี้คนละส่วนต้องไปแก้ปัญหาที่กัญชา ส่วน พท.ชูหากเป็นรัฐบาลจะดันเป็นวาระแห่งชาติ ด้านปชป.เน้นให้ความรู้ครอบครัว ดันนักจิตวิทยา-ครูพละประจำรร.ลดอบายมุขในเด็ก ด้าน พปชร.ลั่นไม่มีวันแก้ถูกกฎหมายแน่นอน
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ซ.ศูนย์วิจัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการมหกรรมฟ้าใส ครั้งที่ 13 โดย ศ. เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า การประชุมคลินิกฟ้าใสเป็นการรวมตัวของสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ สถาบันอุดมศึกษา และภาคีเครือข่ายในการควบคุมการบริโภคยาสูบรวมกว่า 1,000 องค์กร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการควบคุมยาสูบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การควบคุมยาสูบ การบริการช่วยเลิกบุหรี่ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง ( NCDs) โดยได้รับเกียรติจากผู้แทนพรรคการเมืองต่าง ๆ มาร่วมเสวนา “นโยบายพรรคการเมือง กับสุขภาพของประชาชน ให้พ้นพิษภัยนิโคตินจากบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อร่วมผลักดันเชิงนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนของชาติ
(ข่าว : “อนุทิน” ยืนหยัดไม่หนุน “บุหรี่ไฟฟ้า” แม้ใน ครม.บางท่านพยายามทำให้ถูกกฎหมายก็ตาม)
สำหรับเวทีเสวนา “นโยบายพรรคการเมืองกับสุขภาพของประชาชนให้พ้นพิษภัยนิโคตินจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” โดยทพ.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พรรคเน้นนโยบายเชิงรุก มากกว่าเชิงรับ ดังนั้น การรักษาที่ดีที่สุด คือต้องป้องกันก่อนเกิดโรค ซึ่งงบประมาณการรักษาตามสิทธิต่างๆ ภายใน 1 ปีประมาณ 3.2 แสนล้านบาท หากหารออกมาเป็นรายบุคคลอยู่ที่ 4,900 บาทต่อคน แต่ทีดีอาร์ไอคาดการณืว่า 15 ปีข้างหน้าจะมีค่ารักษาพยาบาลถึง 1.4 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ จากปัญหานี้พรรคชาติไทยพัฒนาจึงมาทำนโยบายเชิงรุก ด้วยนโยบาย สุขภาพดีมีเงินคืน 3,000 บาท หมายความว่า หากภายใน 1 ปีสุขภาพดี ไม่เข้ารับการรักษาเลยจะมีเงินคืน 3,000 บาท ซึ่งหากไม่มีใครป่วยเลยจะใช้งบ 1 แสนกว่าล้านบาท ตัวเลขนี้เราทำได้ เพราะแค่ป่วยลดลงก็ช่วยทั้งสุขภาพ และค่าใช้จ่ายน้อยลง
ทพ.อุดมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เราเน้น ลด ละ เลิก และจะทำอย่างไรไม่ให้เยาวชนเข้าสู่วงการบุหรี่ พรรคเราชัดเจนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ที่บ้าน หรือครอบครัว ที่โรงเรียน และภาครัฐ โดยครอบครัวต้องอบอุ่น มีนโยบายสร้างศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทำให้ครอบครัวอบอุ่น เพราะหากลูกที่คลอดออกมาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ไปอยู่กับปู่ย่าตายาย ส่วนใหญ่จะมีปัญหา จากที่เคยลงไปดูงานภาคหนึ่งพบปัญหาสังคมเยอะมาก ทั้งยาเสพติด อบายมุขทั้งหลาย ที่โรงเรียนต้องส่งเสริมให้ความรู้กับเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น เพราะเป็นช่วงอยากรู้อยากลอง ตรงนี้ทำได้จะป้องกันเยาวชนเข้าวงการบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้าได้ และภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น บุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมาย และต้องไม่ให้มีการลักลอบนำเข้า หาซื้อได้ อีกทั้ง ต้องดูแลเด็กเร่ร่อนให้เข้าสู่การศึกษา จะได้ป้องกันไม่ให้เข้าสู่วงการยาเสพติด และบุหรี่
“สำหรับงบประมาณ เรายังขาดงบส่งเสริมสุขภาพหรือป้องกัน รัฐต้องแบ่งงบฯนี้เข้าไปสู่การส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น และขอย้ำว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ยินดีไม่ให้เด็กเข้าสู่บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือยาเสพติด” รองเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา
นายปริเยศ อังกูรกิตติ โฆษกพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า พรรคประกาศนโยบายออกมาแล้ว 14 ข้อ ซึ่งไม่มีนโยบายข้อไหนที่ผลักดันเรื่องที่สุ่มเสี่ยงทำลายสุขภาพคนไทย โดยนโยบายหลักเรื่องสุขภาพ คือ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงโทษภัยไข้เจ็บเกี่ยวกับบุหรี่ และแน่นอนว่า เราไม่ผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย ให้เข้ามาในประเทศ โดยมาตรการที่เราจะใช้ คือ ความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนำเข้า การจัดจำหน่าย เพราะเรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ และพรรคเสรีรวมไทยโดดเด่นในการปราบปรามคอรัปชั่น
ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาพของประชาชน จะไม่ฟังความเห็นแพทย์ไม่ได้ ซึ่งแพทย์ในประเทศไทยเห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้าระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เลิกบุหรี่ได้ เราก็ต้องฟัง แม้จะมีคนมาอ้างถึงข้อมูลต่างประเทศว่า ช่วยเลิก ช่วยลดการสูบบุหรี่ได้ อย่างอังกฤษกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย และพบว่าทำให้คนติดบุหรี่ลดลง แต่อีกมุมคนก็สูบบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นด้วย เรื่องนี้เมื่อมองประเทศไทย การสูบบุหรี่ของไทยมีข้อมูลว่า ลดลง แต่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น และอายุคนสูบน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น เราจะพูดว่าบุหรี่ไฟฟ้าลดการเข้าถึงบุหรี่น้อยลง ไม่ใช่แล้ว
นายปริเยศ กล่าวอีกว่า ที่มีคนมักพูดว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะมาชดเชยการสูบบุหรี่มวน และบอกว่า มีโทษน้อยลง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้คนเข้าสู่วงการคนง่ายขึ้น ดังนั้น เราสนับสนุนไม่ได้ ส่วนที่บอกว่า ทำไมไม่ทำให้ถูกกฎหมาย ก็ต้องบอกว่า ไม่มีหลักฐานว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เลิกบุหรี่ ข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ก็บอกว่า ไม่มีหลักฐานชัดเจน ดังนั้น พรรคเราเชื่อทางการแพทย์ ส่วนเรื่องภาษีโรงงานยาสูบ อันนี้ไม่เกี่ยวกัน และกรณีบอกว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลว่า ก็ร่างกายเขา เขาอยากสูบ ถ้าพูดแบบนี้ก็เป็นสิทธิ แต่ในอนาคตอีก 5 ปีหรือ 10 ปีพวกเขาจะเข้าใจ และไม่อยากให้ลูกหลานสูบ
“ส่วนคำถามที่ว่า กัญชาอิสระแล้ว ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้หละ หากมีความคิดตรงนี้ ขอบอกว่า ก็ต้องไปแก้ที่กัญชา ไม่ใช่แก้โดยการต่อต้านไม่ได้ก็ให้บุหรี่ไฟฟ้าเข้าร่วม แบบนี้ไม่ถูกต้อง จะสร้างปัญหา ไม่ได้สร้างคุณประโยชน์ใดๆ ดังนั้น จุดยืนพรรคเสรีรวมไทยเราเน้นสุขภาพเป็นหลัก อะไรสุ่มเสี่ยงเราไม่สนับสนุน” โฆษกพรรคเสรีรวมไทย กล่าว
ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า หากพูดถึงบุหรี่ไฟฟ้า ทางพรรคเพื่อไทย คิดถึงเด็กและเยาวชนที่เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าโดยไม่ได้รับการควบคุม และพ่อแม่เป็นห่วงกังวลว่า ในอนาคตลูกจะเข้าถึงบุหรี่มวน ขณะที่แพทย์ก็มองเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ผู้ป่วยโรคปอดจากบุหรี่ไฟฟ้าก็จะพบขึ้น ทั้งลงไปเยื่อบุปอด การทำลายสมอง รวมไปถึงจิตแพทย์ก็จะต้องมาช่วยในการบำบัดรักษามากขึ้น สิ่งเหล่านี้หากเกิดขึ้นเรื่อยๆจะกระทบต่อประเทศชาติ
“วันนี้พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคฝ่ายค้าน เราเฝ้าดูกฎหมายมาตลอดตั้งแต่ปี 2557 เราเพิ่งเห็นนายกฯ คิกออฟเปิดโรงเรียน ว่าคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้าในปี 2566 กระทรวงศึกษาธิการก็เพิ่งมาประกาศอีก จึงตั้งคำถามว่าเรามาสร้างความตระหนักเรื่องนี้ช้าไปหรือไม่ แต่ไม่เป็นไร ทางพรรค หากได้เป็นรัฐบาล นายกฯจะเป็นประธานเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ให้เป็นวาระแห่งชาติ และขอเชิญทุกท่านที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันในการปกป้องสังคมในการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า หรือแม้แต่คนส่วนหนึ่งที่อาจต้องการใช้ ก็มาคุยกันว่า จะอยู่ร่วมกันอย่างไร รวมไปถึงการใช้กฎหมายอย่างไรให้เข้มงวด แต่จะทำได้เราต้องเป็นรัฐบาล” รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าว
นพ.เทียนชัย สุวรรณเพ็ญ ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ต้องสร้างเครือข่ายใหญ่กว่าทุกวันนี้ โดยเริ่มต้นครอบครัว ดูข้อมูลวิชาการต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร และใช้เวทีต่างๆ ครอบคลุมไปถึงโรงเรียน สถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อให้ความรู้ตรงนี้ และให้ครอบครัวตระหนักถึงพิษของบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนข้อมูลบุหรี่ไฟฟ้าที่ออกมาว่าไม่เป็นอันตราย กลับมีการออกมาซ้ำๆ จากไม่จริงจะกลายเป็นจริง ตรงนี้น่าห่วงมาก และสนับสนุนให้มีนักจิตวิทยา ครูพละศึกษาประจำโรงเรียน เพื่อให้ช่วยทั้งเป็นที่ปรึกษา และให้เด็กๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นหันมาเล่นกีฬา ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ลดการไปพึ่งพาอบายมุข
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวว่า นโยบายพรรคยังคำนึงถึงแนวทางการ ลด ละ เลิก บุหรี่มวน และบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งแม้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า จะมีนักวิชาการนักวิจัยบางกลุ่ม หรือบริษัทต่างประเทศมาอ้างข้อดีบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งตนได้ศึกษาบอกได้เลยว่า เป็นไปไม่ได้ ที่จะมาเดินนโยบายเลิกบุหรี่มวน แต่มาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน แบบนี้กลายเป็นปีศาจจำแลง และร้ายกาจกว่าเก่าอีก ภาระหน้าที่ที่รณรงค์ไม่สูบบุหรี่เหมือนสูญเปล่า เราจึงยอมไม่ได้ เพราะตรงนี้จะกลายเป็นการเข้าถึงเสพติดในอนาคต โดยหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐไม่สนันบสนุนการเสพติดใดๆทั้งสิ้น ตนไม่ขอพาดพิงพรรคอื่น เพราะเราจะพูดถึงบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า
“ทางพรรคไม่มีวันให้มีการแก้ไขกฎหมายให้การนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายแน่นอน ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐ จะร่วมมือกับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพทั้งหมด เราจะร่วมมือตลอด มีอะไรสามารถแจ้งมาที่พรรคพลังประชารัฐได้ทันที” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้า หากถูกกฎหมายจะกลายเป็นการเปิดประตูปัญหาใหญ่อื่นๆตามมา ซึ่งสังคมไทย เป็นสังคมที่ดีในเรื่องการปกป้องสุขภาพ อย่างแวดวงสาธารณสุข ช่วงโควิดมีการดำเนินการดีมาก อย่างการปูพื้นฐานรณรงค์ไม่ให้สูบบุหรี่ก็จะส่งผลไปมากมาย อย่างเรื่องโควิด ลดความรุนแรงลงได้มากในคนที่ไม่สูบบุหรี่มาก่อน เพราะมีเรื่องปอดเข้ามาเกี่ยวข้อง
“ทางพรรคพลังประชารัฐ ยังมีนโยบายดูแลสุขภาพดีทุกช่วงวัย ซึ่งจะมีเรื่องปลอดบุหรี่ด้วย อย่างนโยบาย “คุณแม่ บุตรธิดา ประชารัฐ” โดยการส่งเสริมคุณแม่มีรายได้ มีเงินสนับสนุนจากรัฐเดือนละ 1 หมื่นบาทเป็นเวลา 5 เดือน เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และเมื่อคลอดแล้วก็จะให้เงินในการดูแลเด็กตั้งแต่ 1 ขวบไปจนถึง 6 ขวบ เดือนละ 3 พันบาท นอกจากนี้ ยังมีผู้สูงวัยให้เบี้ยดูแลสุขภาพ 3 พันบาทต่อปีเมื่ออายุ 60ปี และเมื่อ 70 ปีได้ 4 พันบาท หากอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปได้รับเบี้ยยังชีพ 5 พันบาท”นายไพบูลย์ กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2452 views