สมาพันธ์เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ยื่นเรื่องถึงกมธ.การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ขอความเป็นธรรมค่าเสี่ยงภัย ฉบับที่ 10 พร้อมเดินหน้าร้องต่อ ศอ.บต. และศาลปกครอง เหตุเรื่องล่าช้า ทั้งๆที่ผ่านขั้นตอนแล้ว

 

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามแนวทางการแก้ไขความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนเสี่ยงภัยบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ว่า หลังจากได้ไปยื่นหนังสือถึงท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อขอให้ติดตามและให้ความเป็นธรรมในการจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยแก่บุคลากรชายแดนใต้ ไม่เพียงแต่ 4 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล แต่ขอให้มีการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวแก่บุคลากรอื่นๆที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วยเช่นกัน เพราะทุกคนก็ทำงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเหมือนกันหมด

นายริซกี กล่าวอีกว่า  แม้ล่าสุดทางกระทรวงสาธารณสุขระบุถึงค่าตอบแทนเสี่ยงภัยฉบับที่ 10 ของบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ว่า อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยสหวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีวุฒิสูงกว่าปริญญาตรี จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 1,000 บาทต่อเดือน และวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีให้ได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 500 บาทต่อเดือน แต่ทั้งหมดได้ส่งเรื่องไปยังกรมบัญชีกลาง ซึ่งหมายความว่า เราไม่รู้จะอนุมัติหรือไม่ ทั้งๆที่เรื่องนี้มีการขับเคลื่อนมานานตั้งแต่ปี 2559 และกระทรวงสาธารณสุขได้ให้เขตสุขภาพที่ 12 ตั้งคณะทำงานร่างหลักเกณฑ์ฯ ฉบับที่ 10  จนมีการเสนอร่างฉบับปรับปรุงต่อกระทรวงสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลังในปี 2562  ซึ่งสามารถประกาศใช้ได้แล้ว แต่กลับยังไม่ขยับเลย 

“ทางสมาพันธ์เครือข่ายฯ จะเดินหน้าเรียกร้องต่อไป โดยล่าสุดได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรแล้ว  และเร็วๆนี้ จะไปยื่นเรื่องที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)  และศาลปกครองต่อไป” นายริซกี กล่าว

 

 อ่านต่อ : ตัวแทนบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ร้อง “อนุทิน” และ ปลัดสธ. ขอความชัดเจนค่าเสี่ยงภัยฉบับ 10

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org