หน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) น้องใหม่ จ.ชลบุรี เตรียมเดินสายแนะนำตัวให้หน่วยบริการรู้จัก พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์ให้ความรู้สิทธิบัตรทองแก่เด็กวัยเรียน หวังเด็กนำไปสื่อสารต่อให้ผู้ปกครอง

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2566 น.ส.อารยา แดงแสง ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถููกร้องเรียน หรือ หน่วย 50 (5) จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า หน่วย 50(5) แห่งนี้ ยกระดับมาจากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดชลบุรี เครือข่ายคนพิการ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วย 50(5) เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ซึ่งทิศทางการดำเนินงานหลังจากนี้ มีแผนงานที่จะออกไปแนะนำตัวให้หน่วยบริการต่างๆได้รู้จัก ตลอดจนการอบรมให้ความรู้แก่คณะกรรมการ และดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องสิทธิและการเข้าถึงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพโดยเน้นในกลุ่มเด็กวัยเรียน

น.ส.อารยา กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้าที่จะยกระดับเป็นหน่วย 50(5) นั้น ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดชลบุรี เครือข่ายคนพิการ มีการดำเนินงานที่โดดเด่นเกี่ยวกับผู้พิการ โดยเฉพาะการประสานขอใบรับรองความพิการให้แก่เด็กเล็ก ซึ่งหากทางครอบครัวของเด็กดำเนินการเอง อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน แต่เนื่องจากบทบาทของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดชลบุรี เครือข่ายคนพิการ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการคนพิการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งด้วยการทำงานเกี่ยวกับเด็กออทิสติกและผู้พิการทางสติปัญญามานานกว่า 10 ปี จึงมองออกว่าเด็กคนไหนเป็นออทิสติก คนไหนพิการทางสติปัญญา เมื่อช่วยทำเรื่องประสานขอใบรับรองความพิการไป แพทย์จึงให้ความร่วมมือออกใบรับรองให้ภายใน 1 เดือน

“ที่ผ่านมาก็ประสานงานช่วยขอใบรับรองความพิการให้หลายราย เฉพาะปีนี้ก็ 6-7 รายแล้ว บางรายใช้เวลา 2-3 ปีแพทย์ก็ยังไม่กล้าออกใบรับรองความพิการให้เพราะกลัวว่าผู้ปกครองจะรับไม่ได้ว่าลูกตัวเองพิการ เราก็สื่อสารกับแพทย์ว่าถ้าน้องเขาไม่มีบัตร เขาก็ไปรับบริการที่ศูนย์บริการคนพิการไม่ได้นะ รวมทั้งพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าเด็กยังเล็ก ยังมีโอกาสพัฒนาได้ แต่ถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ เด็กจะเสียโอกาสในการพัฒนา ผู้ปกครองก็เข้าใจและให้เราช่วยดำเนินการประสานขอใบรับรองความพิการให้ พอเขามีบัตรประจำตัวคนพิการ เขาก็จะได้สิทธิการรักษาพยาบาลผู้พิการ (ท74) สิทธิการศึกษาในโรงเรียนเฉพาะทาง และสิทธิในการรับการฝึกทักษะในศูนย์บริการคนพิการ”น.ส.อารยา กล่าว

ในส่วนของงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสิทธิบัตรทองนั้น น.ส.อารยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดชลบุรี เครือข่ายคนพิการ เน้นเข้าไปประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในโรงเรียน เพราะมองว่าเด็กจะสามารถกลับไปถ่ายทอดสื่อสารให้กับผู้ปกครองอีกต่อหนึ่งได้ โดยใช้กลยุทธ์การให้ความรู้ที่สนุกสนาน มีรางวัลกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการตอบคำถาม เป็นต้น รวมทั้งการออกไปแจกเอกสารแผ่นพับ คู่มือสิทธิบัตรทอง ตามตลาดนัดหรือตามบูธในอีเว้นท์ต่างๆ และเมื่อยกระดับเป็นหน่วย 50(5) แล้วก็จะดำเนินการต่อไป

“รู้สึกประทับใจที่ได้ช่วยให้เด็กได้มีบัตรประจำตัวคนพิการ ได้เห็นพ่อแม่ยินดีที่ลูกจะได้มีสถานที่ฝึกทักษะชีวิต รวมทั้งการออกไปให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิบัตรทองในโรงเรียนก็เป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่สนุกทั้งเด็กและเราด้วย ถือเป็นความประทับใจในการทำงาน”น.ส.อารยา กล่าว

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand