เปิดเวที “สางปมบุหรี่ไฟฟ้า..หลากปัญหา รอวันแก้” เผยข้อมูลข้อเท็จจริง! บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีนิโคติน เป็นข้อมูลคลาดเคลื่อน ยี่ห้อแอบอ้างล้วนมีนิโคตินหมด ขณะที่ช่วยเลิกบุหรี่ก็ไม่จริง บางประเทศมีงานวิจัยใช้เป็นทางเลือกเลิกบุหรี่แต่ต้องอยู่ภายใต้แพทย์ และต้องขึ้นทะเบียนเป็นยา ซึ่งไม่มีบริษัทใดทำ พร้อมรอฟังพรรคการเมืองกับจุดยืนบุหรี่ไฟฟ้า
กลายเป็นที่ถกเถียงว่า สรุปแล้วบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคติน หรือไม่มี... เพราะช่วงที่ผ่านมาในโซเชียลมีเดียมีการพูดเรื่องนี้กันมาก หนำซ้ำยูทูปเบอร์บางช่องยังมีการรีวิวบุหรี่ไฟฟ้าไร้นิโคตินอีก และบางเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลว่า มีคนดังเลิกบุหรี่ได้ด้วยบุหรี่ไฟฟ้า....
ข้อมูลเหล่านี้ได้แพร่ไปยังโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดความสับสน นอกเหนือจากประเด็นการควบคุม “บุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งไทยถือว่าผิดกฎหมาย ประเด็นนี้จะมีการพูดในช่วงถัดจากนี้
แต่ครั้งนี้เรามาเคลียร์เรื่อง บุหรี่ไฟฟ้ามีสารอันตราย อย่างนิโคติน จริงหรือไม่ และใช้เลิกบุหรี่ได้หรือไม่อย่างไร
ศ. นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ให้ข้อมูลภายในงานโฟกัสกรุ๊ปเรื่อง "สางปม บุหรี่ไฟฟ้า... หลากปัญหา รอวันแก้" ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส. )ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพ
“บุหรี่ไฟฟ้าที่ขายเกือบทั้งหมดล้วนมีนิโคติน แม้แต่ยี่ห้อที่อ้างว่า ไม่มี แต่ตรวจสอบแล้วก็พบมีนิโคตินอยู่ดี อย่างในสหรัฐ มีการตรวจสอบพบนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าถึง 99% ขณะที่สิงคโปร์ตรวจสอบก็พบถึง 96% ซึ่งจริงๆก็จะคล้ายๆการดื่มเหล้าที่บอกว่าไม่มีแอลกอฮอล์ คนที่ดื่มก็จะรู้สึกว่าดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะถึงกว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็เช่นกัน ถ้าไม่มีนิโคตินคนที่สูบก็จะรู้สึกว่า ไม่ถึงอีก ส่วนใหญ่จึงมีนโคตินแทบทั้งหมด” ศ. นพ.ประกิต กล่าว
นอกจากนี้ แม้ไม่มีนิโคติน ก็ไม่ใช่ไม่มีอันตราย เพราะยังทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์เยื่อบุหลอดลม และหลอดเลือดฝอย อันเป็นผลจากสารเคมี สารปรุงแต่งกลิ่นรส สารละลายที่ทำให้เกิดละอองไอ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งล้วนเป็นสารเคมีแปลกปลอมของทางเดินหายใจ และต่อร่างกาย
“รายงานการวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่สรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและระบบทางเดินหายใจ เพราะละอองลอยมีสารโลหะหนักหลายชนิด เช่น เหล็ก ทองแดง นิกเกิล สังกะสี โครเมียม และตะกั่ว กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ยังพบสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองเด็กและวัยรุ่น บุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับสูบบุหรี่ 20 มวน และบางยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง 50 มวน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต บอกอีกว่า กลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ ที่ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า ก็เพื่อให้เกิดการติด ซึ่งนิโคติน เป็นสารหลักที่ทำให้เกิดการติดบุหรี่ เหมือนบุหรี่มวนที่สูบกัน เพียงแต่บุหรี่ไฟฟ้า จะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน จึงไม่แปลกที่จะเห็นวัยรุ่นมักสูบ เพราะจะมีการอ้างว่า ไม่มีนิโคติน และยังแต่งกลิ่นต่างๆ ทำให้ดึงดูดวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นผู้หญิงก็ยังเข้ามาสูบมากขึ้น ดังนั้น คนที่ไม่สูบบุหรี่ธรรมดา ก็จะหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น หากในอนาคตเราจะมีการปรับแก้กฎหมาย ซึ่งหากยอมให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ปัญหาการสูบบุหรี่มวนยังไม่จบ ก็จะเพิ่มปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าไปอีก
ในปี 2564 มี 32 ประเทศทั่วโลก ประกาศใช้กฎหมายห้ามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มจากปี 2557 มีเพียง 13 ประเทศ สะท้อนว่าทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าเพราะมีข้อมูลชัดเจน เช่น เด็กมัธยมปลายอเมริกันสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.5% ในปี 2554 เป็น 19.6% ในปี 2563 นิวซีแลนด์เด็กอายุ 14-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.9% ในปี 2560 เป็น 9.6% ในปี 2564 ส่วนเด็กมัธยมต้นของไทยอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 8.1% ในปี 2564
“หากเราให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย โดยมีเงื่อนไขว่า ไม่ให้มีการแต่งกลิ่น แต่ปัญหาก็จะเกิดขึ้นตรงที่จะมีการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าที่แต่งกลิ่น โดยขายใต้ดินจำนวนมาก ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่หากป้องกันตั้งแต่ต้นด้วยการไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้า ถูกกฎหมาย ส่วนพรรคการเมืองจะสนับสนุน หรือไม่สนับสนุนอย่างไรก็ต้องรอดูทิศทางว่า เรามองถึงเด็กและเยาวชน อนาคตของชาติอย่างไร” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
โดยเร็วๆนี้ ทางสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จะจัดงานและเชิญพรรคการเมืองต่างๆ ถึงการแสดงจุดยืนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นเช่นไรด้วย
เมื่อถามประเด็นที่มีคนเผยแพร่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกเลิกบุหรี่มวน....ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายืนยันเมื่อปี 2565 ว่าไม่เคยรับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ อนุญาตให้เคลมว่ามีสารพิษน้อยกว่า แต่ไม่ได้ยืนยันว่ามีอันตรายน้อยกว่าตามที่บริษัทบุหรี่นำมากล่าวอ้าง และยังไม่เคยมีประเทศใดขึ้นทะเบียนบุหรี่ไฟฟ้าเป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข ออสเตรเลีย ระบุว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2564-2565 โดย 60% ของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่กลับมาสูบบุหรี่ชนิดมวนใหม่
“ การจะพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ทางฝ่ายสนับสนุนพูดถึงจะส่งผลให้คนสูบบุหรี่อยู่แล้วสูบน้อยลง ซึ่งไม่จริง เพราะหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ก็ยังสูบบุหรี่ธรรมดาร่วมถึง 2 ใน 3 และงานวิจัยที่อังกฤษที่ระบุว่าช่วยเลิกบุหรี่ได้ก็เพราะเป็นการใช้อยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ หากใช้เองไม่มีทางเลิกสูบได้ แต่เมื่อติดตามไปแล้วก็ไม่มีการเลิกบุหรี่ไฟฟ้าเช่นกัน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ที่สำคัญไม่เคยพูดถึงผลกระทบอื่น อย่างคนที่ไม่สูบก็จะทำใฟ้เข้าสู่การสูบได้ องค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า ปัญหาใหญ่สุดของบุหรี่ไฟฟ้าคือ ทำให้เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าและเด็กที่เริ่มต้นสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 2-4 เท่า รวมทั้งคนที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาจะกลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน
ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า นักเรียนมัธยมติดบุหรี่ไฟฟ้า ตื่นมาต้องสูบโดสแรกในระยะเวลาที่เร็วกว่าบุหรี่ธรรมดา ยิ่งสูบภายใน 30 นาทีหลังตื่นนอนบ่งบอกว่าติดมาก นอกจากนี้ ยังกระทบต่อภาพรวมสุขภาพของประชาชน และการควบคุมยาสูบโดยเฉพาะระดับจังหวัด ที่มีจำนวนคนน้อย ทั้งยังต้องทำงานทั้งบุหรี่ เหล้า ยาเสพติดอื่นๆ หากเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้าเป็นยักษ์ขึ้นมาอีกตัว ก็ยิ่งเพิ่มปัญหาเข้าไปใหญ่
เมื่อข้อมูลวิชาการออกมาเช่นนี้ ต้องมารอดูจุดยืนของพรรคการเมืองว่า จะสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นของผิดกฎหมายอยู่เหมือนเดิม หรือจะมีการแก้กฎหมายในอนาคต...
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 9902 views