“หมอทวีศิลป์” เผยเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรทุกวิชาชีพเป็นค่าโอที – ค่าเวรบ่ายดึก (ฉ.5) ส่วนค่าตอบแทนเสี่ยงภัยชายแดนใต้คงไว้ 4 วิชาชีพตามเดิม (ฉ.10) ส่วนคำสั่งก่อนหน้านี้เป็นการส่งต่อข้อมูลเอกสารที่พิมพ์คลาดเคลื่อนยังไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้อง แต่กลับนำมาเวียนในระบบสารบรรณ ล่าสุดแก้ไขแล้ว พร้อมเดินหน้าหารือแนวทางเพิ่มสายงานผู้ปฏิบัติงานชายแดนใต้
จากกรณีสมาพันธ์เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมจะยื่นหนังสือถึงผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ถึงความไม่เป็นธรรมการจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยชายแดนใต้ เนื่องจากคำสั่งดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ลงนามโดยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการเพิ่มค่าตอบแทนมีระบุถึงค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ ว่า ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานวุฒิป.ตรี และต่ำกว่าป.ตรี แต่ตอนท้ายกลับมีการปรับแก้ไม่มีผู้ปฏิบัติงาน 2 กลุ่มดังกล่าว คงเดิมเพียง 4 วิชาชีพคือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลนั้น
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ในการดำเนินการสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรต่างๆ ล่าสุดมีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนล่วงเวลา หรือเพิ่มค่าโอทีทุกวิชาชีพร้อยละ 8 และค่าเวรผลัดบ่าย-ดึกอีกร้อยละ 50 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2552
“ส่วนกรณีหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ฉบับที่ 10) ยังเป็นไปตามเดิม ส่วนการปรับเพิ่มสายงานที่จะได้รับค่าตอบแทนชายแดนใต้ จะมีการหารือเพื่อดำเนินการตามระเบียบราชการต่อไป" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้หลักเกณฑ์ฯ คำสั่งค่าตอบแทนสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ได้ระบุว่า ให้เพิ่มอีก 2 สายงาน คือ สายงานปฏิบัติงานวุฒิป.ตรีขึ้นไปอัตราละ 1,000 บาทต่อเดือน และสายงานวุฒิต่ำกว่าป.ตรี อัตรา 500 บาทต่อเดือน แต่กลับมีการปรับเปลี่ยนคำสั่งในเวลาต่อมาไม่มี 2 กลุ่มดังกล่าว นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จริงๆเดิมทีปลัดสธ. และตน ไม่ทราบว่ามีการพิจารณาและส่งเรื่องการเพิ่มสายงานปฏิบัติงานพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งกรณีนี้ต้องส่งเรื่องให้ทางกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณพิจารณาก่อน เมื่อทราบว่ามีการใส่ลงไปในหลักเกณฑ์ฯ จึงต้องมีการปรับแก้ไข และจะทำเรื่องเสนอต่อกรมบัญชีกลางต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีการส่งข้อมูลกันในไลน์ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า การเพิ่มสายงานในบุคลากรชายแดนใต้ที่จะได้รับค่าเสี่ยงภัยนอกเหนือ 4 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลนั้น ปรากฎว่า การเพิ่มตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นไปตามหนังสือเวียนในระบบสารบรรณ ส่วนที่มีการส่งต่อทางไลน์นั้นเป็นเอกสารที่พิมพ์ผิดพลาดก่อนที่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง แล้วนำมาเวียนในระบบสารบรรณ
นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าตนจะเป็นผู้แทนสมาพันธ์ฯ เพื่อไปยื่นหนังสือติดตามทวงถามเรื่องนี้ โดยไม่ได้มากันจำนวนมากแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการทวงถามเหตุผล และขอไทม์ไลน์ระยะเวลา เนื่องจากเรื่องนี้ได้มีการเรียกร้องมานานตั้งแต่ปี 2559 ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลัง มีหลักฐานต่างๆชัดเจน ล่าสุดเรื่องไปถึงกองกฎหมายขชองสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เมื่อตอนแรกออกคำสั่งเช่นนั้น จึงทำให้บุคลากรที่ทำงานชายแดนใต้ มีปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอจ.สงขลา คือ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ต่างรู้สึกดีใจ แต่สุดท้ายกลับไม่ใช่ เพราะเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในเรื่องเอกสารราชการหรืออย่างไร
“ สุดท้ายหากการขับเคลื่อนเพื่อบุคลากรสายงานอื่นๆที่ทำงานพื้นที่ชายแดนใต้ไม่เป็นผลจริงๆ พวกเราก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อไปร้องที่ศาลปกครอง ดำเนินการฟ้องร้องเพื่อพิทักษ์สิทธิของพวกเราให้ถึงที่สุด..” เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ กล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง : บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้เตรียมยื่นหนังสือถึง สธ.ทวงถามค่าเสี่ยงภัย ฉ. 10 ด้านรองปลัดฯ ยืนยันคำสั่งเหมือนเดิม
หลักเกณฑ์ฯ ที่ถูกต้อง..
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1232 views