รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการพัฒนาต้นแบบการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเชิงรุก จ.ระนอง นำรถ Mobile Stroke Unit จากสถาบันประสาทวิทยามาประจำ รพ.ระนอง สามารถฉีดสีทำ CT Scan และให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทันทีบนรถ ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตามมาตรฐานภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง ลดอัตราตายและลดความพิการ

 

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์  ที่โรงพยาบาลระนอง จ.ระนอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเชิงรุก พร้อมเปิดหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ รถ Mobile Stroke Unit จากสถาบันประสาทวิทยา เปิดคลินิกผู้สูงอายุ และเปิดศูนย์ Telemedicine โรงพยาบาลระนอง โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ และผู้บริหารเข้าร่วม

 

นายอนุทินกล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 60,000 คน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ และพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งการร่วมมือกันพัฒนาบริการโรคหลอดเลือดสมองครั้งนี้ จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ขณะที่ศูนย์การแพทย์ทางไกลหรือโทรเวชกรรม (telemedicine center) ที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ก็จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของประชาชนที่อยู่ห่างไกล ทำให้เข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดความแออัด และลดการรอคอย ที่สำคัญจะเป็นต้นแบบในการขยายผลการจัดระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างดี

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีระบบทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Track) โดยตามมาตรฐานการรักษา ผู้ป่วยต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง และได้รับการรักษาโดยใช้สายสวนลากลิ่มเลือดภายใน 6-24 ชั่วโมง ซึ่งจะสามารถลดอัตราตายและลดความพิการลงได้ แต่จากข้อมูลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จ.ระนอง ในปี 2564 มีจำนวน 441 ราย สามารถเข้าระบบ Fast Track ได้เพียง 149 ราย คิดเป็น 33.8% จึงกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเชิงรุก โดยมีการนำรถ Mobile Stroke Unit ของสถาบันประสาทวิทยามาประจำการในพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เป็นต้นแบบให้แก่หน่วยงานเครือข่ายได้พัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งการส่งต่อที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลให้มีความพร้อม

 

นพ.ธงชัย กล่าวว่า นวัตกรรมรถ Mobile Stroke Unit เป็นหน่วยรักษาผู้ป่วยอัมพาตเคลื่อนที่ ช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สามารถฉีดสีทำ CT Scan และให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทันทีบนรถ โดยการสื่อสารผ่านระบบโทรเวชกรรมกับแพทย์ในโรงพยาบาล ทำให้ดูแลผู้ป่วยได้สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งรถ Mobile Stroke Unit ในพื้นที่ จ.ระนอง ตัวรถจะประจำอยู่ที่ รพ.ระนอง แบ่งการดูแลออกเป็น 4 เส้นทาง และแต่ละเส้นทางจะอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการดูแลรักษา คือ 4 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนการพัฒนาระบบ Digital Transformation หรือ DMS Telemedicine เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์และระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยในการใช้บริการนัดหมายเพื่อปรึกษาการแพทย์ทางไกล

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

สถาบันประสาทวิทยาชู “เทคโนโลยี...เปลี่ยนชีวิต” พลิกฟื้นผู้ป่วยพาร์กินสัน เร่งผลักดันรักษาฟรีในสิทธิบัตรทอง

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org