“อนุทิน” มอบปลัด สธ.ประชุมร่วม ป.ป.ส. หารือประเด็นยาบ้าเกิน 1 เม็ดถือเป็นผู้ค้า ขณะที่พรุ่งนี้ (2 ก.พ.) เตรียมถกคกก.บำบัดยาเสพติดฯ ปรับแก้ร่างกฎกระทรวงให้เหมาะสม ก่อนเสนอ รมว.สธ.ลงนาม พร้อมมอบกรมการแพทย์-กรมสุขภาพจิต เตรียมพร้อมรองรับบำบัดรักษาคนไข้เพิ่มเติม!

 

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการแก้ไขกฎกระทรวงเรื่องการถือครองยาบ้า ว่า วันนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อหารือ ชี้แจงประเด็นการถือครองยาเสพติด หรือยาบ้าเกิน 1 เม็ดขึ้นไปให้ถือว่าเป็นผู้จำหน่าย ที่เดิมกฎหมายกำหนดไว้ที่ 15 เม็ด แล้วมีการปรับลงมาที่ 5 เม็ด ทั้งนี้ สธ.ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการบำบัดและฟื้นฟูยาเสพติด มากว่า 3 เดือนแล้ว ซึ่งได้นำข้อมูล เหตุผลต่างๆ ที่คณะกรรมการบำบัดยาเสพติดฯ มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้มีการแก้ไขกฎกระทรวง เรื่องการถือครองยาบ้า อย่างไรก็ตาม  ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะมีการประชุมคณะกรรมการบำบัดยาเสพติดฯ เพื่อสรุปร่างกฎกระทรวง จากนั้นก็จะส่งมาที่ รมว.สธ. ลงนามแล้วนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

เมื่อถามถึงเหตุผลในการกำหนดตัวเลขที่ 1 เม็ด อาจส่งผลกระทบต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดที่มากขึ้นหรือไม่ ทาง สธ.มีการเตรียมความพร้อมเรื่องนี้อย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการบำบัดยาเสพติดฯ มีความห่วงใยและไม่ได้อยากให้มีการเลี่ยงบาลีในการดำเนินคดีกับผู้ค้ายาบ้า ไม่ได้เป็นนโยบายของคนใดคนหนึ่ง โดยที่ผ่านมาเราลดลงเหลือ 5 เม็ด ก็ยังมีการใช้วิธีหมุนเวียน แต่พอมาเหลือ 1 เม็ด คนก็มองว่าไม่คุ้มแล้ว ดังนั้น ก็น่าจะเป็นการลดจำนวนผู้ที่จะฉวยโอกาสในการค้ายาบ้าโดยการหลอกใช้เยาวชน ฉะนั้น เรื่องกฎหมายไม่ต้องกังวลอะไร เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงไว้ซึ่งดุลพินิจในการดูเจตนารมณ์ และสามารถสันนิษฐานได้ว่าคนนี้ค้าหรือเสพ ถ้าพฤติกรรมเป็นผู้เสพ ก็นำตัวไปบำบัด

 

“เราต้องไม่อ้างว่าเดี๋ยวคุกไม่พอขัง เดี๋ยวหมอไม่พอบำบัดแล้วไม่ต้องปราบ นั่นไม่ใช่ เราต้องปราบ ไม่ให้มีโอกาสในการค้ายาเสพติด ยาบ้าให้มากที่สุด ให้คนเข้าไม่ถึง ห่างไกลยาเสพติด เพิ่มการบังคับใช้ทางกฎหมายให้มีความรุนแรง เพื่อหวังให้การกระจายของยาบ้าลดลง ทั้งนี้ เจ้าพนักงานก็ต้องใช้กฎหมายเต็มที่อยู่แล้ว” นายอนุทิน กล่าว

 

ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนแผนการรองรับการบำบัดยาเสพติด สธ.ได้เตรียมพร้อม โดยกรมการแพทย์จะดูแลเรื่องสถานบำบัด ขณะที่ กรมสุขภาพจิต ก็เข้ามาดูแลช่วยกัน โดยแนวคิดการบำบัดในชุมชนเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเราได้เตรียมเรื่องนี้ไว้ในแผนแล้ว

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระบวนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 1 คน ใช้ระยะเวลา 3 เดือน แต่ก็ยอมรับว่าการบำบัดรักษามีบางคนไม่ได้หายขาดแบบ 100 % บางคนก็วนเวียน กลับเข้าสู่วังวนยาเสพติดอีก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชน เพราะสภาพแวดล้อมเดิมๆ ทำให้เกิดการใช้ยาอีกครั้ง โดยพบว่า เยาวชนที่มีการเข้าบำบัดรักษาอายุเฉลี่ย 18- 24 ปี และ กลุ่มวัยแรงงาน ซึ่งการบำบัดที่ผ่านมา ก่อนช่วงโควิดมี 4-5 แสนคน แต่ในสถานการณ์โควิด เหลือคนเข้าบำบัดรักษา 1.75 แสนคน ทั้งนี้หลังจากมีแนวนโยบายปรับแก้การยึดครองยาเสพติด เพื่อเข้าบำบัดรักษา จะทำให้ รพ.ระดับจังหวัดเปิดวอร์ดรักษาทางจิตเวช และ ยาเสพติด ให้กระบวนการบำบัดรักษาไม่ได้มีแค่สถาบันธัญญารักษา และศูนย์บำบัดรักษาของกรมการแพทย์อีก 7 แห่งเท่านั้น