อย่าแชร์! ธาตุเหล็กจากพืชร่างกายจะสามารถดูดซึมได้ดีกว่าธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ ส่วนปลาเหล็กและกระทะเหล็กก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ในการป้องกันแก้ไขปัญหาโลหิตจางได้    

จากกรณีโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ระบุว่า ธาตุเหล็กจากพืชร่างกายจะสามารถดูดซึมได้ดีกว่าธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ ธาตุเหล็กในพืชดีกว่าธาตุเหล็กในเนื้อสัตว์ เพราะก่อให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งพบในฮีโมโกลบินของเซลล์เม็ดเลือดแดง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดฮีม (Heme iron) และชนิดไม่ใช่ฮีม (Non–heme) โดยธาตุเหล็กชนิดฮีมพบมากในเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์สีแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อแพะ ส่วนชนิดไม่ใช่ฮีมพบมากในพืชผัก ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง แม้ว่าจะมีข้อมูลแสดงความเชื่อมโยงว่า การรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดงสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง แต่จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กชนิดฮีมจากเนื้อสัตว์ได้ดีกว่า ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติควรรับประทานพืชผักที่มีธาตุเหล็กให้มากขึ้น ซึ่งหากร่างกายขาดธาตุเหล็กจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางส่งผลเสียต่อสุขภาพ อีกทั้งเนื้อสัตว์ก็ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นจึงไม่ควรงดรับประทานเนื้อสัตว์ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม โดยข้อมูลจาก World Cancer Research Fund International หรือกองทุนวิจัยมะเร็งโลกแนะนำให้รับประทานเนื้อแดงไม่เกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์ และควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

เช่นเดียวกับความเชื่อที่ว่า ปลาเหล็กและกระทะเหล็กช่วยเพิ่มธาตุเหล็กจากการปรุงประกอบอาหาร แก้ไขปัญหาโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ยืนยันว่า ข้อมูลเชิงวิชาการ พบว่า ปลาเหล็กที่ได้รับการเตรียมตามสูตรดังกล่าว (Lucky Iron Fish) สามารถให้ธาตุเหล็กเมื่อต้มในน้ำเดือดได้จริง แต่ผลจากการวิจัยชี้ว่า การดูดซึมและการที่ร่างกายนำธาตุเหล็กไปใช้ (Iron Bioavailability) น้อยมาก เมื่อเทียบกับการได้รับวิตามินเสริมธาตุเหล็ก Ferrous Sulfate จึงไม่พบการเพิ่มขึ้นของระดับเฟอร์ริติน (Ferritin) ที่เป็นโปรตีนที่จับกับธาตุเหล็กในเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดธาตุเหล็กหรือโรคโลหิตจางได้ ส่วนกระทะเหล็ก ที่อ้างสรรพคุณ  ว่ามีธาตุเหล็กและช่วยเพิ่มธาตุเหล็กในอาหาร ถือเป็นการโฆษณาเกินจริง สาเหตุหลักที่ผู้ปรุงอาหารนิยมนำกระทะเหล็กมาใช้ปรุงประกอบอาหาร เพราะร้อนเร็ว ให้ความร้อนสูง ใช้เวลาในการปรุงอาหารน้อย และยังทำให้อาหารสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการน้อยลง แต่การใช้ความร้อนสูงในการปรุง จะทำให้อาหารไขมันสูงบางชนิด เกิดสารเคมีที่ไม่ดีต่อสุขภาพ 

ดร.นายแพทย์สราวุฒิ เพิ่มเติมว่า สำหรับอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเนื้อแดง เลือด ตับ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ปลา เป็ด ไก่ และอาหารทะเล ธัญพืช เช่น ซีเรียล ข้าวโอ๊ต จมูกข้าวสาลี แป้ง และถั่วเมล็ดแห้ง ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ตำลึง ผักโขม ผักบุ้ง บรอกโคลี และหน่อไม้ฝรั่ง ขณะเดียวกันควรกินผลไม้ที่เป็นแหล่งของวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง มะละกอ สตรอว์เบอร์รี ส้มโอ และกีวี ร่วมกับอาหารในมื้อนั้น จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้ง่ายขึ้น

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org