ฟันผุติดต่อกันได้ผ่านการหอมหรือจูบ เป็นข้อมูลเท็จ! โรคอะไรบ้างที่ต้องระวัง ติดได้ผ่านน้ำลาย
กรณีที่มีผู้โพสต์ว่า ฟันผุติดต่อกันได้ผ่านการหอมหรือจูบ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ ฟันผุไม่ใช่โรคติดต่อผ่านการหอมหรือจูบ ฟันจะผุได้นอกจากเชื้อโรคแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ความเป็นกรดของน้ำลาย การไหลของน้ำลาย สภาพของผิวฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาการสัมผัสของเชื้อโรค และกรดต่อผิวฟัน จนกระทั่งเกิดการทำลายของผิวเคลือบฟันและเนื้อฟันตามลำดับ ซึ่งต้องใช้เวลานานมากพอ อาจต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนจนเกิดการทำลายของผลึกเคลือบฟัน การจูบในช่วงเวลาอันสั้น ไม่สามารถทำให้เกิดการติดต่อของฟันผุได้ แต่การจูบ มีโอกาสส่งผ่านเชื้อโรคทางน้ำลาย เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ หรือเริม นอกจากนี้ กรณีที่มีแผลในช่องปาก อาจทำให้เกิดการติดต่อของโรคติดต่อผ่านทางเลือดได้อีกด้วย เช่น โรคเอดส์ และซิฟิลลิส
การดูแลช่องปากและสุขภาพฟันจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันฟันผุ ให้หมั่นสังเกตฟัน ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กินอาหารให้เป็นเวลา ไม่ควรกินจุกจิก โดยสถาบันทันตกรรม เพิ่มเติมว่า ฟันผุเกิดจากการมีเศษอาหารไปค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือมีน้ำตาลจากอาหารที่รับประทานสัมผัสกับฟันอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนแผ่นคราบจุลินทรีย์สร้างกรดที่มีฤทธิ์ทำลายผิวฟัน จนฟันถูกกัดกร่อนทำลายเป็นรูผุจากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าสู่ชั้นในเนื้อฟัน ส่งผลให้เกิดอาการเสียวฟันได้เมื่อรับประทานอาหารร้อนหรือเย็น เมื่อฟันผุลุกลามจนทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟัน จะเกิดอาการปวดฟันได้ หรือเกิดรากฟันอักเสบเป็นหนอง หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นช่องทางให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นได้ การดูแลสุขภาพช่องปากช่วยลดปัญหาการเกิดโรคฟันผุ ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนนอน ใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟันที่ขนของแปรงสีฟันเข้าไปไม่ถึง เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 6-12 เดือน
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ถึงกรณีการติดโรคทางน้ำลายเกิดได้เพราะปากเป็นช่องทางการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โรคหลายชนิดอยู่ในน้ำลายโพรงจมูก ลำคอ เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เชื้อจากแผลบริเวณริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม หรือโรคเหงือกและฟันอักเสบ การติดโรคทางน้ำลายมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณความรุนแรงของเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันที่ต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง หรือผู้รับเชื้อมีแผลในปาก มีเชื้อราในปาก เหงือกอักเสบ จะทำให้ติดได้ง่ายเช่นกัน โดยโรคที่ต้องระวังได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คางทูม และไวรัสตับอักเสบบี
อย่างไรก็ตาม ในปากและน้ำลายของแต่ละคนมีเอนไซม์และภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้บางส่วน แต่ก็ยังสามารถติดโรคทางน้ำลายได้ จึงต้องระมัดระวัง
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 847 views