สถานการณ์ประชากรประเทศไทยล่าสุด มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญนั่นคือ จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564 ซึ่งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ได้จัดทำขึ้นนและ กระทรวงพัฒนาสังคมและคงามมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาพบว่า ปี 2564 เป็นปีแรกที่มีจำนวนคนตาย (563,650 คน) มากกว่าจำนวนเด็กเกิด (544,570 คน) ทำให้อัตราประชากรติดลบเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะมีจำนวนลดลง โดยจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจาก 12.5 ล้านคน ในปี 2564 เป็น 20.5 ล้านคน ในปี 2583 คิดเป็นร้อยละ 31.4 ของประชากรทั้งหมด
รายงานดังกล่าวระบุว่า ในปี 2564 โลกมีจำนวนประชากรรวมทั้งหมด 7,875 ล้านคน โดยมีผู้สูงอายุ 1,082 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13.7 ของประชากรทั้งหมด ทวีปยุโรปมีประชากรสูงอายุรวมทั้งหมด 195 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26.1 ของประชากรทวีปยุโรปทั้งหมด (748 ล้านคน) และทวีปอเมริกาเหนือมีประชากร สูงอายุรวมทั้งหมด 87 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23.5 ของประชากรทวีปอเมริกาเหนือทั้งหมด (371 ล้านคน) ดังนั้น 2 ทวีปดังกล่าวจึงเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ และเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลกได้กลายเป็นสังคมสูงอายุแล้วยกเว้นทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นภูมิภาคเดียวที่ยังไม่เป็นสังคมสูงอายุ (มีอัตราผู้สูงอายุร้อยละ 5.6)
สำหรับภูมิภาคเอียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนมีประชากรสูงอายุรวมทั้งหมด 76 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11.4 ของประชากรอาเซียนทั้งหมด (671 ล้านคน) โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ที่เป็นสังคมสูงอายุแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมียนมา (ที่ยังไม่เป็นสังคมสูงอายุ ได้แก่ ลาว กัมพูชา และฟิลิปปินส์)
ในปี 2564 ประเทศไทยมีประชากรรวมทั้งหมด 66.7 ล้านคน โดยมีผู้สูงอายุ จำนวน 12.5 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 18.8 ของประชากรไทยทั้งหมด แบ่งตามกลุ่มช่วงอายุได้ ดังนี้ ผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60-69 ปี) 7.6 ล้านคน ผู้สูงอายุวัยกลาง (อายุ 70-79 ปี) 3.5 ล้านคน และผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) 1.4 ล้านคน โดยมีผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชรา จำนวน 2,196 คน [อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 910 คน และภายใต้การดูแลของ พม. จำนวน 1,286 คน] ขณะที่สถานะสุขภาพของผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อม จำนวน 6.8 แสนคน และผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะติดเตียง จำนวน 46,779 คน
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายใน 6 ด้านประกอบด้วย 1. ปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรไทยที่มีประชากรวัยแรงงานลดลงและสัดส่วนประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเสนอให้มีการทบทวนนิยาม “การเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุ” ให้เพิ่มมากกว่า 60 ปี และขยายเวลาในการ “เกษียณอายุ” จากการทำงาน (ทั้งภาครัฐและเอกชน) โดยอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายบางฉบับ ให้พิจารณาขยายเวลารับสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ในภาคเอกชน จากเดิมกำหนดไว้เริ่มที่อายุ 55 ปี ขยายเป็นเริ่มที่อายุ 60 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีระยะเวลาการทำงานในระบบเพิ่มมากขึ้น และพิจารณานำเข้าแรงงานที่มีทักษะและแรงงานกึ่งทักษะจากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นมิตรประเทศกับประเทศไทยอย่างเป็นระบบ
2. การเตรียมการของสังคมไทยเพื่อรองรับคลื่นสึนามิผู้สูงอายุ เสนอให้หนุนเสริมและพัฒนาทักษะของประชากรทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะทักษะของประชากรวัยแรงงาน วัยก่อนสูงอายุ และกลุ่มประชากรสูงอายุ ภายใต้แนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ชุมชน ภาคธุรกิจเอกชนและสถานประกอบการให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุในทุกพื้นที่ สร้างแรงจูงใจการทำงานให้กับแรงงานสูงอายุด้วยการออกแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เหมาะสมกับความต้องการและเงื่อนไขตามวัยของแรงงานและขยายสิทธิประโยชน์ให้กับนายจ้างที่จ้างงานผู้สูงอายุ พัฒนาการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของประชากรวัยแรงงานและกลุ่มผู้สูงอายุ
3. การลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุ โดยเร่งรัดการให้ข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องกับผู้สูงอายุและญาติผู้ดูแล โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และ/หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 ควรมีระบบการจัดการข่าวปลอมในเรื่องโควิด-19 และการฉีดวัคซีนในสื่อสังคมออนไลน์ พัฒนาระบบการส่งยาทางไปรษณีย์ การรับยาและเวชภัณฑ์สำหรับโรค ไม่ติดต่อเรื้อรังที่ร้านขายยา และ รพ.สต./สำนักงานพัฒนาเร่งรัดชนบทรวมทั้งระบบการรักษาทางไกลให้มีความต่อเนื่อง ครอบคลุมผู้สูงอายุที่อยู่ในทุกสิทธิระบบประกันสุขภาพ พิจารณาเพิ่มกำลังคน พัฒนาขีดความสามารถและสมรรถนะของอาสาสมัครและนักบริบาลชุมชนที่ให้บริการในระบบการดูแลระยะยาว เปิดโอกาสให้รัฐวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มธุรกิจไม่แสวงผลกำไรเข้ามาช่วยเหลือภาครัฐและชุมชนในการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ติดบ้าน ติดเตียง) โดยมีค่าตอบแทน
4. การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุอยู่ในถิ่นที่อยู่โดยจัดให้มีบริการที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพการใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระและมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ สนับสนุนแนวคิด“ให้ผู้สูงอายุคงอยู่ในถิ่นที่อยู่เดิม ในครอบครัว ชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ตนคุ้นชิน” ผลักดัน อปท. องค์กรสาธารณประโยชน์ สถานศึกษา ภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่ต้องการสร้างสาธารณประโยชน์ให้ทำหน้าที่ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและการจัดบริการในระดับชุมชนสำหรับผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ อปท. และชุมชน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม และจัดบริการสาธารณะโดยเฉพาะการขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตนอกบ้านของผู้สูงอายุ และยกระดับมาตรฐานของที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะดำเนินการโดยรัฐหรือเอกชนสำหรับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องไปอยู่ในที่อยู่อาศัยใหม่
5. การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และวางแผนการออมเงินและใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อเป็นเงินออมไว้ใช้จ่ายยามชราภาพ ปรับแก้กฏหมายการออมแห่งชาติให้มีความยืดหยุ่นและให้สมาชิก/แรงงานทุกระบบมีการออมอย่างต่อเนื่อง มุ่งพัฒนาระบบบำนาญให้ครอบคลุมผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้า รวมทั้งปรับปรุงระบบเบี้ยยังชีพให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ/ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
6. การสนับสนุนความเป็นธรรมทางดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุ โดยจัดสวัสดิการพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับสังคมสูงอายุ เช่น จัดให้มี WiFi ฟรีครอบคลุมในทุกพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยีผ่านการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุทางไกล การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจออนไลน์เพื่อสนับสนุนการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ด้วยการทำธุรกิจทางออนไลน์และการสร้างแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้แก่ผู้สูงอายุ สร้างระบบสนับสนุนที่หนุนเสริมการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและประชากรทุกกลุ่มวัย โดยอาจใช้กลไกอาสาสมัครในการช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้สูงอายุมีการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ เสริมทักษะด้านความรอบรู้เทคโนโลยีสารสนเทศของผู้สูงอายุ
- 7103 views