ครม.มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบบริการสุขภาพจิตครอบคลุมทั้งประเทศภายใน 5 ปี   สธ.ตั้งเป้าผลิตสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิต 590 คนต่อปี มีทั้งจิตแพทย์    พยาบาลเฉพาะทางสุขภาพจิต  พยาบาลเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวช (ป.โท)  นักจิตวิทยาคลินิก  นักสังคมสงเคราะห์จิตเวช  นักกิจกรรมบำบัด   และ เภสัชกรจิตเวช  พร้อมจัดเพิ่มให้คำปรึกษาแบบจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry) และเพิ่มรถ โมบายคลายเครียดรุกชุมชน

 

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566   ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิตภายในระยะเวลา 5 ปี ผลักดันนโยบายขยายการบริการจิตเวชและยาเสพติด ทั้งด้านบุคลากรสหวิชาชีพ อุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยและพาหนะบริการเชิงรุก เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและลดผลกระทบความรุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตอันเป็นอาจจะเป็นมูลเหตุหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดอย่างเป็นระบบและการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ง่ายจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะช่วยลดภาระของครอบครัวและชุมชน ลดอุบัติการณ์ความรุนแรงและจัดการผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้มอบหมายให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง เปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดให้ครอบคลุมทั้ง 121 แห่งใน 76 จังหวัด รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง

ดังนั้น อัตรากำลังคนด้านสุขภาพจิตที่เพียงพอเพื่อรองรับบริการประชาชน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ในวันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ 2 ประเด็นของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1.ให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต ภายในระยะเวลา 5 ปี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 –2570 และ 2. ให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงเป็นปัญหาแก่สังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งสถิติผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ที่เข้าระบบบริการในสถานพยาบาล สธ.ยอดสะสมตั้งแต่ปี 2559-2564 จำนวน 27,521 คน และในปี 2565 พบผู้ป่วย SMI-V รายใหม่ จำนวน 3,526 คน (รายงาน HDC กระทรวง สธ.) ปัจจุบันเพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชสามารถเข้าถึงบริการจิตเวชที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ลดภาระของครอบครัวและชุมชน

ทั้งนี้ สธ.คาดว่าจะเร่งผลิตบุคลากรทางแพทย์ด้านสุขภาพจิตและอบรมเพิ่มพูนทักษะบุคลากรเดิม เพื่อการกระจายกำลังให้ครอบคลุม ภายใน 5 ปีนี้ โดยสธ.ตั้งเป้า ผลิตสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิต 590 คนต่อปี ได้แก่ 1.จิตแพทย์ เพิ่มขึ้น 30 คนต่อปี 2.พยาบาลเฉพาะทางสุขภาพจิต เพิ่มขึ้น 300 คนต่อปี 3.พยาบาลเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวช (ป.โท) เพิ่มขึ้น 20 คนต่อปี 4.นักจิตวิทยาคลินิก เพิ่มขึ้น 80 คนต่อปี 5.นักสังคมสงเคราะห์จิตเวช เพิ่มขึ้น 80 คนต่อปี 6.นักกิจกรรมบำบัด เพิ่มขึ้น 50 คนต่อปี และ7.เภสัชกรจิตเวช เพิ่มขึ้น 30 คนต่อปีและจัดเพิ่มการตรวจให้คำปรึกษาแบบจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry) ด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยในรพ.ทุกระดับ พร้อมกันนี้จัดเพิ่มรถบริการสุขภาพจิตเคลื่อนที่ (โมบายคลายเครียด) จำนวน 33 คันแก่หน่วยบริการสังกัดกรมสุขภาพจิต ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่เชิงรุกในชุมชนได้

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสุขภาพจิต รายงานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2565 พบว่าผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตผิดปกติ 47,957 ราย ขาดรับตรวจตามนัดภายใน 6 เดือนถึงร้อยละ 17.17 ขณะที่ผู้ป่วยโรคจิตเภท 57,754 ราย ขาดการติดตามนัด ร้อยละ 8.34 ในบางรายเมื่อขาดยาจิตเวชทำให้อาการทางจิตกำเริบหรือใช้ยาเสพติดซ้ำได้ ซึ่งสัมพันธ์กับการก่อเหตุรุนแรง ช่วงสถานการณ์การระบาดไวรัส โควิด 19 ที่ผ่านมา บุคลากรสาธารณสุขด้านสุขภาพจิต มีภาระงานมากขึ้นและต้องช่วยกันทำงานในหน่วยบริการอื่น ส่งผลให้ขาดอัตรากำลังฯ

กรมสุขภาพจิตจึงเร่งจัดทำ “โครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต” เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิตให้ได้อย่างน้อย 2,950 คนภายใต้การดำเนินโครงการฯระยะเวลา 5 ปี เพื่อขยายกำลังครอบคลุมทั่วประเทศ พัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชและชุดอุปกรณ์สื่อสารใช้ตรวจให้คำปรึกษาแบบจิตเวชทางไกลที่ทันสมัยและการเชื่อมโยงบริการส่งต่อในรพ.ทุกระดับให้สามารถติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนได้ รวมทั้งรถบริการสุขภาพจิตเคลื่อนที่ (โมบายคลายเครียด)แก่หน่วยบริการสังกัดกรมสุขภาพจิต เพื่อให้บริการ ถึงที่ ถึงบ้าน ประชาชนได้รู้สึกอุ่นใจ เข้าถึงบริการได้สะดวก รับการติดตามดูแลต่อเนื่อง ลดปัญหาการขาดการักษาและการขาดยาเพื่อป้องกันอาการทางจิตกำเริบ เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความรอบรู้สุขภาพจิต ให้คำปรึกษาครอบครัว ชุมชน สามารถลดปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้