ตามที่มีการแชร์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นเรื่องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดิบ จะถูกดูดน้ำย่อยในลำไส้ ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีบทความเตือนว่า กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดิบจะดูดน้ำย่อยในลำไส้ เกิดอาการขาดน้ำ จนทำให้เกิดภาวะช็อกได้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดิบ ไม่สามารถดูดน้ำย่อยในลำไส้ได้ จึงไม่ทำให้ร่างกายขาดน้ำ เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทำมาจากแป้ง ผ่านการทำให้สุกได้ด้วยน้ำร้อน ก่อนจะนำไปทอดในน้ำมัน หรือนำไปอบแห้ง ผู้บริโภคมักจะนำมาต้มหรือใส่น้ำร้อนอีกครั้งก่อนรับประทาน เมื่อนำมาเติมน้ำร้อน หรือต้ม เส้นบะหมี่จะดูดน้ำ จนพองตัวในระดับหนึ่ง ตัวเส้นจะอ่อนนุ่ม ง่ายต่อการบริโภค หากนำมากินดิบจะเหมือนกับการกินแป้งหรือขนมปังเข้าไปในร่างกาย ไม่สามารถไปดูดน้ำย่อยในลำไส้ หรือทำให้ร่างกายขาดน้ำได้อย่างที่เข้าใจกัน แต่การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดิบอาจทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้องได้ โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อ 1 ซอง มีปริมาณโซเดียมที่สูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน ปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้รับประทาน คือ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หากกินมากเกินไปจะทำให้เกิดอาหารกระหายน้ำ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ จึงไม่ควรบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกินวันละ 2 ซอง

สำหรับอันตรายจากภาวะขาดน้ำ คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ภาวะขาดน้ำ เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการทำงานของระบบไหลเวียนและอวัยวะ เช่น หัวใจ ไต สมอง ทางเดินอาหาร และกล้ามเนื้อ สำหรับอาการของผู้ที่มีภาวะขาดน้ำจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง เริ่มต้นด้วยอาการปากแห้ง คอแห้ง กระหาย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงง และวิงเวียน เมื่ออาการขาดน้ำเริ่มกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต อาทิ ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเบาเร็ว ซึมลง หรือความดันโลหิตต่ำ ความรุนแรงที่มากจะส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ไตวายเฉียบพลัน หรืออาจถึงแก่ชีวิต

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ เกิดได้จากการสูญเสียน้ำไปทางปัสสาวะ ทางเดินอาหาร และเหงื่อ เช่นผู้ป่วยมีอาการท้องร่วง ท้องเสีย อาเจียนอย่างหนัก ปัสสาวะมากเพราะน้ำตาลในเลือดสูงหรือยาบางชนิด คนที่มีอาการไข้สูง เป็นลมแดด ทำให้สูญเสียน้ำทางผิวหนังมากกว่าปกติ ซึ่งภาวะขาดน้ำ เกิดได้จากการดื่มน้ำเข้าร่างกายไม่เพียงพอ น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ วิธีป้องกันภาวะขาดน้ำ จึงต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ 1.5 - 2 ลิตรต่อวัน หรืออย่างน้อย 8 แก้ว ขึ้นกับสภาวะร่างกายและสิ่งแวดล้อม หากออกกำลังกายจนสูญเสียเหงื่อมาก หรือเจ็บป่วยจนสูญเสียน้ำในร่างกาย จำเป็นต้องได้รับน้ำและเกลือแร่เพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจล้มเหลว อาจจำเป็นต้องจำกัดปริมาณน้ำและเกลือแร่ จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ข้อมูลจาก : เรื่อง อันตรายภาวะขาดน้ำ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org