น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) (ฉบับที่ 4 ) ซึ่งสิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) เป็นสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เสนอในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงแก้ไขบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP ครั้งที่ 4 จำนวน 2 รายการ ใน 2 หมวด คือ การจัดทำรายการยา และค่าธรรมเนียมแพทย์ ดังนี้
1.การจัดทำรายการยา ในหมวดที่ 3 ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด เป็นการปรับรายการยาในบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP จำนวน 3,138 รายการ จากเดิมที่กำหนดตามชื่อการค้า (Trade name) ของยาทั้งหมด โดยปรับใหม่ ดังนี้ ประเภทที่ 1 ยาต้นแบบ (Original drug) ให้ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยใช้ทั้ง 2 ชื่อ คือ ชื่อสามัญทางยา (Generic name) และชื่อการค้า (Trade name) จำนวน 227 รายการ ส่วนประเภทที่ 2 ยาสามัญ (Generic drug) ให้ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยใช้เฉพาะชื่อสามัญทางยา (Generic name) เพียงอย่างเดียว จำนวน 1,060 รายการ เมื่อปรับปรุงแล้วจะส่งผลให้มีรายการยาทั้ง 2 ประเภท คงเหลือในบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP รวมทั้งสิ้น 1,287 รายการ
การปรับปรุงรายการยาดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาของการเบิกจ่ายยา เนื่องจากการใช้ชื่อทางการค้า จะทำให้ยาที่มีตัวยาสามัญชนิดเดียวกันแต่ต่างยี่ห้อหรือไม่อยู่ในบัญชีแนบท้าย จะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นชื่อสามัญของยาแก้ปวด ลดไข้ แต่มีชื่อทางการค้าหลายชื่อ เช่น ยี่ห้อ SARA ยี่ห้อ PARA GPO หรือยี่ห้อ PARACAP
2.ค่าธรรมเนียมแพทย์ ในหมวดที่ 12 ค่าบริการวิชาชีพ เป็นการปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์ (ค่าตรวจวินิจฉัยและทำหัตถการโดยแพทย์) เพื่อให้เป็นไปตามคู่มือแนวทางการกำหนดค่าธรรมเนียมการแพทย์ ปี 2563 ของแพทยสภา โดยปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 อาทิ 1)การเย็บแผลฉีกขาดหรือบาดแผลของหนังศีรษะ ปรับค่าธรรมเนียมใหม่เป็น 9,000 บาท จากเดิม 6,000 บาท 2)การซ่อมแซมหลอดเลือดแดงโป่งพองในสมอง ปรับค่าธรรมเนียมใหม่เป็น 90,000 บาท จากเดิม 60,000 บาท 3)การใส่ท่อช่วยหายใจ ปรับค่าธรรมเนียมใหม่เป็น 2,250 บาท จากเดิม 1,500 บาท
ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมแพทย์ (ค่าบริการวิชาชีพ) คิดเป็นร้อยละ 45 ของค่าบริการผู้ป่วย UCEP ทั้งหมด (ค่าบริการผู้ป่วย UCEP เช่น ค่าห้อง และค่าอาหาร ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ค่าทำหัตถการ และค่าบริการวิชาชีพ) ดังนั้น การปรับเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมแพทย์ในครั้งนี้ จะส่งผลให้ค่าบริการผู้ป่วย UCEP ในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5
- 261 views