เปิดตัวโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ผลักดันเกิด “โรงพยาบาลปลวกแดง 2” พื้นที่พิเศษ EEC จ.ระยอง สัญญา 50 ปี เอกชนจ่ายรัฐตามข้อกำหนดทางกฎหมายไม่ต่ำกว่า 567 ล้านบาท ที่สำคัญหวังช่วยประชาชนเข้าถึงบริการรักษาได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกันตน เหตุโรงงานเยอะ เข้าถึงบริการต้องข้ามพื้นที่ คาดได้เอกชนร่วมทุนเดือนมีนาคม ก่อนเข้าสู่กระบวนการ หวังเปิดบริการอาคารแรกปลายปี 67 ก่อนทยอยเปิดตัวทางการ
“นี่จะช่วยลดการเดินทางของผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ ลดการบริการกระจุกตัว ให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานในราคาที่เหมาะสมสะดวกรวดเร็ว เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากการร่วมลงทุนรพ.รัฐและเอกชน ที่รพ.ปลวกแดง 2 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศ...” นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวในระหว่างการแถลงข่าว “โรงพยาบาลปลวกแดง 2 การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(Public Private Partnership : PPP) แห่งแรกของประเทศ” เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวจำนวนมาก ทั้งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และผู้บริหารจากกระทรวงสธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
นายสาธิต กล่าวเพิ่มเติมว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญของเมือง แต่มีปัญหาทางโครงสร้าง ทั้งประชากรแฝง งบประมาณจำกัดของกระทรวงสาธารณสุข ความแออัดของโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น กระทรวงฯ จึงต้องเดินหน้าแก้ปัญหา แต่เป็นเฉพาะบางพื้นที่ ที่หากปล่อยให้ระบบสาธารณสุขดำเนินตามปกติ ก็จะทำให้ประชาชนพื้นที่นั้นๆ อาจเสียโอกาสในการรักษาพยาบาลได้
ดังนั้น การจัดการของกระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมมือกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดการพิเศษให้เกิดการบริหารคล่องตัวได้ โดยร่วมมือให้เกิดรูปแบบ โรงพยาบาลแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง สธ.และภาคเอกชน ซึ่งเคยมีรูปแบบที่ได้รับการยอมรับมาก่อนคือ รพ.บ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) ซึ่งมีจุดแข็งโดยภาคเอกชนมีกำลังความสามารถและขับเคลื่อนจนปัจจุบัน แต่ล่าสุดเราจะมีโรงพยาบาลร่วมทุนภาครัฐเอกชนขึ้น โดยใช้ช่องทางของคณะกรรมการอีอีซี จากนี้จะหาเอกชนที่สนใจในการร่วมลงทุนกับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป คาดว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนโดยให้ได้รพ.เอกชนที่สนใจเข้ามาภายในเดือนมีนาคม 2566
“จริงๆโครงสร้างเดิมของ รพ.ปลวกแดง 1 เป็นรพ.ชุมชนขนาด 60 เตียง รองรับประชากรได้ 5-8 หมื่นคน ทำให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังรพ.ทั่วไป ระดับจังหวัดอีก แต่เฉพาะพื้นที่อ.ปลวกแดง เป็นที่ตั้งของโรงงานมาก และมีประชากรแฝงจำนวนหลักแสนคน ความหนาแน่นจึงมาก สิทธิประกันสังคมนอกจากกระตุกที่นี่ ก็ยังขยายไปพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้น รพ.ปลวกแดง 2 ก็จะเป็นอีกทางเลือกในการให้บริการประชาชนในพื้นที่ และประชาชนสิทธิประกันสังคม 2 แสนคน รวมไปถึงกรณีการบริการแบบพรีเมี่ยม” นายสาธิต กล่าว
ทั้งนี้ โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุน 2,647 ล้านบาท โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะมีพื้นที่และมีอาคารดั้งเดิมมี 1 อาคารกำลังก่อสร้าง และจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นงบประมาณกว่า 230 ล้านบาท ส่วนรพ.เอกชนจะมารับช่วงในการก่อสร้างต่อเนื่องกว่า 2 พันล้านบาท รวมไปถึงการจัดหาแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งสัญญาตรงนี้จะใช้เวลา 50 ปี เมื่อหมดสัญญา ตัวงบประมาณการลงทุนที่เอกชนลงทุนจะคืนกลับให้รัฐบาล ระหว่างนี้ก็จะมีการจ่ายค่าเช่าให้กระทรวงสาธารณสุข และสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ ส่วนบุคลากรต่างๆ ทางรพ.เอกชนจะดำเนินการจัดหาทั้งหมด
เมื่อถามว่าการจัดหาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะมาในรูปแบบการจ้างของเอกชนทั้งหมดใช่หรือไม่ นพ.สุริยะ คูหรัตน์ สาะรณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า สำหรับ รพ.ปลวกแดง 2 จะเป็นรูปแบบโรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งสัดส่วนจะสูงประมาณ 80-90% แต่ไม่ถึง 100% เนื่องจากพื้นที่รอบๆ มีรพ.เฉพาะทางอื่นๆ อยู่ เช่น ศูนย์มะเร็ง ศูนย์ผ่าตัดต่างๆ แต่เราก็จะมีผ่าตัดพื้นฐานอื่นๆ อย่างกระดูก สมอง หัวใจ ฟอกเลือด รักษาไตวาย
“สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมาดำเนินการใน รพ.ปลวกแดง2 จะเป็นในส่วนของง รพ.เอกชนที่เข้ามาร่วมทุนดำเนินการในส่วนนี้ ส่วนเมื่อครบสัญญา 50 ปีแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น หลายคนก็จะเกษียณ หรืออาจจะมีการต่อสัญญาอีกก็เป็นได้” นพ.สุริยะ กล่าว
ด้าน นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า รพ.ปลวกแดง 2 จะเป็นรพ.ระดับจังหวัด ซึ่งจะช่วยรองรับผู้ประกันตนได้มาก เพราะทุกวันนี้กลุ่มดังกล่าวมีการเดินทางไปรักษารพ.อื่นๆ หากเรามีรพ.ปลวกแดง 2 ก็จะช่วยลดการส่งต่อ พนักงานก็จะรู้สึกดีมีรพ.ใกล้บ้าน การร่วมลงทุนจึงเกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีพื้นที่ 30 ไร่ มีอาคารแห่งแรก เอกชนที่ชนะการประมูลก็จะมาสร้างอาคารเพิ่มให้ครบ 200 เตียงเมื่อครบรูปแบบก็จะโอนเป็นของรัฐ และรัฐจะให้กรรมสิทธิ์เอกชนในการดำเนินการตามสัญญาตลอดเวลา 50 ปี
“เอกชนจะแบ่งค่าตอบแทนขั้นต่ำให้เรา แต่เราไม่ได้หวังผลตอบแทนตัวเงินมากนัก จุดสูงสุดคือ ประชาชนได้รับการดูแล แต่เนื่องจากเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันจึงต้องมีการแบ่งตามกฎหมายกำหนด โดยเอกชนที่ชนะก็จะต้องดำเนินการ ทั้งจัดหาคน บุคลากร จัดหาทรัพยากรต่างๆ เป็นต้น” นพ.พีรพล กล่าว
ทั้งนี้ จะเปิดเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก เจรจาสัญญา อนุมัติผลคัดเลือก และลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ในช่วงเดือนมิถุนายน -กรกฎาคม 2566 ซึ่งเมื่อได้เอกชนมาดำเนินการก็จะมีการก่อสร้างต่างๆ เพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี โดยปลายปี 2567 จะดำเนินการได้บางส่วนด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ค่าตอบแทนที่เอกชนจะแบ่งให้ภาครัฐอยู่ที่เท่าไหร่ นพ.พีรพล กล่าวว่า ในการทำโครงการนี้ได้ให้สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ทำการศึกษาความเป็นไปได้ โดยคำนวณว่าอย่างต่ำที่เอกชนต้องให้ภาครัฐคิดเป็นมูลค่าสุทธิ 567 ล้านบาท เอกชนรายใดผ่านมาตรฐานก็จะยื่นหลักฐานมา อย่างไรก็ตาม ก็จะมีกการประมูลขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดจะยึดประโยชน์จากภาครัฐเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้เข้ามารับบริการที่ รพ.ปลวกแดงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ.2561 2562 และ 2563 มีผู้มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอก 233,131 ราย 250,707 ราย 240,584 ราย และผู้ป่วยใน 5,414 ราย 6,509 ราย และ 6,825 ราย ตามลำดับ สำหรับปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด19 ปริมาณงาน จึงลดลงบ้าง รวมทั้งมีการส่งต่อผู้ป่วย ทั้งกรณีปกติและทั่วไปจำนวนมากที่เกิดขีดความสามารถเนื่องจากการไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนในพื้นที่เฉพาะ จึงต้องเกิดขึ้น
โดย รพ.ปลวกแดง 2 ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ โดยขอใช้จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข บริเวณหมู่ 6 ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ห่างจากตลาดบ้านปลวกแดง 300 เมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 800 เมตร ห่างจากรพ.ปลวกแดง 1.3 กิโลเมตร
สรุปคือ เราจะมีรพ.ปลวกแดง 2 ซึ่งเป็นของรัฐและเอกชนร่วมลงทุน เริ่มใช้บริการอาคารแรกได้ช่วงปลายปี 2567 เป็นต้นไป
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 3630 views