กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังนักท่องเที่ยวเข้าไทย ทั้งอากาศ และทางบก ตั้งด่านชายแดนเชียงราย ย้ำ! นทท.จีนชุดแรกทำประกันสุขภาพทุกคน วงเงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ หารือ คปภ.ครอบคุมประกันหลังพบเชื้อ 7 วันแม้วันสุดท้ายอยู่ไทย  เริ่มแล้วจุดฉีดวัคซีนต่างชาติ กทม.มีศูนย์แพทย์บางรัก และสปคม.บางแขน กรมการแพทย์จัดเพิ่มสถาบันโรคผิวหนังให้ต่างชาติฉีดด้วย ส่วนจังหวัดท่องเที่ยวเตรียมเทเลคอนเฟอเร็นซ์หาจุดฉีดวัคซีน มีเชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี  

 

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวเข้าไทย ทั้งประเด็นจัดเตรียมวัคซีนโควิด และการตรวจเชื้อ ว่า  หลังจากที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเที่ยวในไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะไปตามแหล่งท่องเที่ยวสายมู หรือวัดชื่อดังตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งจากการประชุมเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวช่วงเดือนมกราคม โดยเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการเองก็เตรียมการเรื่องนี้กัน ตั้งแต่การเตรียมคน วัคซีนให้พนักงาน เตรียมสถานที่เพื่อทำตามมาตรการการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ซึ่งถ้ามีความห่วงกังวลเรื่องวัด หรือสถานที่ต่างๆ เราก็จะประสานไปยังกระทรวงวัฒนธรรมเพิ่มเติม รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว

 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า  ขณะนี้มีการเฝ้าระวังการเดินทางผ่านท่าอากาศยาน ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ ให้ความรู้ผู้เดินทางว่าหากติดเชื้อโควิดจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งเราจะทำเพิ่ม คือ ด่านบก  เพราะส่วนหนึ่งเดินทางด้วยรถไฟที่กรมควบคุมโรคมีด่านอยู่แล้ว แต่ก็ได้สั่งการแล้วว่าให้ทำการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางเพิ่มขึ้น เช่น จ.เชียงราย จังหวัดชายแดน โดยจะใช้แนวทางเดียวกัน คือ ถ้าประเทศปลายทางกำหนดว่าจะต้องตรวจ RT-PCR ก่อนกลับ ก็จะต้องมีการทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโควิด วงเงินไม่ต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันมี 2 ประเทศที่กำหนด คือ อินเดีย และจีน

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนโควิดให้ชาวต่างชาติ กรมควบคุมโรคได้เตรียมพื้นที่ใน กทม. ไว้ 2 จุด คือ 1.ศูนย์การแพทย์บางรัก โดยมีคำสั่งให้เปิดให้บริการทุกวัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไปฉีด และ 2.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เขตบางเขน ส่วนกรมการแพทย์จะใช้สถาบันโรคผิวหนังเข้ามาช่วยฉีด ค่าบริการวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 800 บาทต่อเข็ม และไฟเซอร์ 1,000 บาท ส่วนค่าบริการทางการแพทย์อีก 380 บาท โดยพื้นที่ กทม.เริ่มให้บริการฉีดวัคซีนแก่ต่างชาติแล้ว

ส่วนพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ กรมควบคุมโรคจะนัดประชุมเทเลคอนเฟอเร็นซ์ เตรียมความพร้อมกัน โดยมีเป้าหมายว่าจะให้ทุกจังหวัดมีจุดฉีดวัคซีนสำหรับชาวต่างชาติ 1 จุด ซึ่งกรมฯ จะรวบรวมข้อมูลประกาศให้ประชาชนรับทราบ  ขณะที่บริการตรวจ RT-PCR ให้ผู้เดินทางก็จะอ้างอิงค่าบริการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยได้ประสานสถานทูตของแต่ละประเทศแล้วว่าเอกสารรับรองการตรวจโควิดจากหน่วยบริการที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองสามารถใช้อ้างอิงได้ทั้งหมด ส่วนเรื่องสำคัญที่เราต้องดำเนินการ คือ การทำแบบฟอร์มกลางสำหรับผู้เดินทางที่สมัครใจฉีดวัคซีน

เมื่อถามว่ากรณีที่ชาวต่างชาติติดเชื้อโควิดแต่ประกันหมดจะต้องทำอย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับประกันสุขภาพผู้เดินทาง เรากำหนดกรอบคร่าวๆ ว่า 1.ครอบคลุมรักษาโควิด 2.ครอบคลุมการรักษาประมาณ 7 วัน เท่าที่เราตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมมติว่าถ้ามาท่องเที่ยว 7 วันและซื้อประกันมา กรณีการป่วยเกิดขึ้นก่อนวันที่ 7 เราก็ขอให้ประกันมีความครอบคลุมการรักษาอย่างน้อย 7 วัน ทั้งนี้ ข้อมูลประกันเดิมที่เคยมี พบว่า ประกันเพียงพอต่อการรักษาโควิดในปัจจุบัน

เมื่อถามถึงชาวต่างชาติที่ติดเชื้อโควิดแล้วอาการน้อย จะต้องจองโรงแรมต่อด้วยหรือไม่แล้วจะเข้าเกณฑ์ของประกันสุขภาพหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า เราได้หารือกับ คปภ. เรื่องแนวทางรักษาโควิดในปัจจุบันสามารถรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ได้ซึ่งค่าใช้จ่ายจะน้อยกว่าการเข้ารักษาในโรงพยาบาล (รพ.) มาก ดังนั้น จะทำให้กรมธรรม์อัตราไม่สูง เราจึงให้ คปภ.ออกแบบประกัน ซึ่งเขายังมีความกังวลเล็กน้อยเรื่องอัตราการพบผู้ป่วย ซึ่งคาดว่า 2 สัปดาห์จะทราบข้อมูลนี้ อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะพักในโรงแรมที่มีมาตรฐาน SHA Plus ซึ่งพนักงานมีความพร้อมดูแลผู้ป่วยโควิด และมี รพ. เอกชนคู่สัญญารองรับการตรวจโควิดให้ผู้เข้าพัก และถ้าติดเชื้อก็มีระบบส่งต่อผู้ป่วย แต่หากไม่ได้พักในโรงแรม SHA Plus ก็ยังมีประกันสุขภาพที่สามารถเข้ารักษาใน รพ. ได้ เคลมได้ตามระบบ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นในการเปิดฮอสปิเทล (Hospitel) แต่ถ้ามีสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ก็สามารถให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดระบบนี้ขึ้นมารองรับได้

 

เมื่อถามถึงการคาดการณ์โควิดหลังจากที่มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น นพ.ธเรศ กล่าวว่า เรามีการคาดฉากทัศน์ไว้ ซึ่งนักท่องเที่ยวระยะแรกคาดว่าจะไม่มาก อย่างจากประเทศจีน 3 เดือนแรกคาดว่าจะเข้ามา 3 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 5 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่เราเปิดประเทศตั้งแต่ ต.ค.2565 นักท่องเที่ยวเข้ามาปกติแต่ยังไม่เห็นการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ส่วนหนึ่งนักท่องเที่ยวเองก็มีความระวังด้วย แสดงว่าระบบเฝ้าระวังดูแลได้ตามที่เราคาดการณ์

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org