กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังโรคโปลิโอ หลังพบระบาดหลายประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เดินหน้ารณรงค์ให้เด็กทุกคนบนแผ่นดินไทย ทั้งคนไทยและต่างชาติ ได้รับวัคซีน ล่าสุดครอบคลุมแล้วมากกว่า 90% แต่อาจมีปัญหาบางจุด  เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น พร้อมกำหนดเป็นจุดเฝ้าระวังเข้ม คือ แนวตะเข็บชายแดน  พื้นที่ที่มีชุมชนคนต่างด้าวจำนวนมาก  

 

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวังการระบาดของโรคโปลิโอ หลังหลายประเทศพบมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ว่า ที่ผ่านมามีโรคฝีดาษคน (Smallpox) ที่สามารถกวาดล้างให้หมดไปได้แล้ว โดย "โรคโปลิโอ" ถือเป็นเป้าหมายถัดไปที่จะกวาดล้างให้ได้ โดยเป็นโรคที่สองที่มีโอกาสจะกวาดล้างให้หมดไปจากโลกสำเร็จ เนื่องจากหากไม่มีใครมีโปลิโอในตัวก็จะหายไปจากโลกใบนี้ ประเทศที่เจริญแล้วมีความครอบคลุมของวัคซีนโปลิโอมากๆ จะไม่ค่อยมีปัญหานี้ แต่ก็ยังมีบางประเทศที่คนเข้าถึงยากหรือยังไม่มีการฉีดวัคซีนโปลิโอ องค์การอนามัยโลกพยายามรณรงค์ให้การฉีดวัคซีนมากที่สุด ถ้าสามารถฉีดได้ครอบคลุมทุกคนบนโลกวันนั้นจะเป็นวันที่โปลิโอจะหมดไปจากโลก

 

สำหรับการเฝ้าระวัง จะไม่ได้เฝ้าระวังคนเป็นโรคโปลิโอ เนื่องจากจะล่าช้าเกินไป แต่จะเฝ้าระวังอาการอ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน ซึ่งมีหลายโรค แต่ที่เรากลัวคือโปลิโอ เพราะเป็นโรคของระบบประสาทไขสันหลัง ทำให้เด็กสมัยก่อนแขนขาลีบ ถ้าใครมีอาการอ่อนแรง และประเทศที่มีมาตรฐานพอจะต้องหาคนที่มีอาการอ่อนแรงประมาณ 1-2 ต่อแสนประชากร เมื่อเจอแล้วมาพิสูจน์ว่าไม่ได้เกิดจากโรคโปลิโอที่ถือว่าสามารถควบคุมโรคโปลิโอได้อย่างดี ซึ่งประเทศที่หาคนมีอาการอ่อนแรงไม่เจอแสดงว่าระบบไม่ดี คนอาจจะเป็นโปลิโอแล้วไม่ทราบ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพบผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงแต่พิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่โปลิโอ ซึ่งเราไม่เคยพบมานานอาจมากกว่า 40 ปี โดยการตรวจหาเชื้อโปลิโอสำหรับประเทศไทยไม่ใช่เรื่องยาก เราสามารถตรวจได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อไรที่ได้ยินคนป่วยคล้ายโปลิโอจากประเทศใกล้เคียงก็ต้องระวัง

"เราได้สัญญาณว่าในหลายประเทศ ที่มีการเข้าถึงบริการไม่ดี ประเทศที่อาจยากจน ก็พบว่ามีข่าวเรื่องคนป่วยลักษณะแบบโปลิโอโผล่ขึ้นมา เมื่อ 3-4 ปีก่อนก็เคยพบในเมียนมาที่ใกล้บ้านเรา ก็จะทำให้เกิดปัญหาว่าโปลิโอยังไม่ได้หมดไปจากโลกจริงๆ ยังมีแหล่งที่แพร่เชื้อได้อยู่ ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง ถ้ามีอยู่ใกล้ประเทศไทยวันหน้าก็เข้ามาได้ จึงเป็นข้อกังวลของเรา ต้องมีเครือข่ายว่า ถ้าใครมีปัญหาช่วยส่งสัญญาณ" นพ.ศุภกิจกล่าว

 

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนประเทศไทยเรามีการรณรงค์ให้เด็กทุกคนบนแผ่นดินไทย ทั้งคนไทยและต่างชาติ ได้รับวัคซีนโปลิโอให้ได้รับครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งภาพรวมทั้วประเทศเรามีความครอบคลุมวัคซีนมากกว่า 90% แต่อาจจะมีปัญหาแค่บางจุดรายพื้นที่ เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น ที่เราห่วงคือแนวตะเข็บชายแดน พื้นที่ห่างไกลมาก จึงมีการกำหนดเป็นจุด (Spot) เช่น พื้นที่ชายแดน พื้นที่ที่มีชุมชนคนต่างด้าวจำนวนมาก โดยปีหนึ่งฉีด 2 ครั้ง เช่น ช่วง ม.ค.กับ ก.พ. เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีทั้งหมดเราให้วัคซีนโปลิโอทั้งหมด ไม่ว่าจะเคยได้หรือไม่ได้ เพื่อเก็บว่าจะไม่มีใครพลาด เป็นหลักการที่เราและหลายประเทศพยายามทำ 

 

ถามว่าการระบาดของโรคโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์เป็นอย่างไร นพ.ศุภกิจกล่าวว่า จริงๆ ก็เหมือนกับโรคจากไวรัสอื่นๆ ทั่วไป เพียงแต่ว่าโปลิโอไม่ใช่โรคติดเชื้อที่กว้างขวางใหญ่โตเหมือนโควิด จึงไม่ได้กลายพันธุ์อะไรเร็วมากมาย นานๆ จะมีคนติดเชื้อสักที เพระาหลังๆ มีคนรับวัคซีนกันเกือบหมดแล้ว แต่โควิดวันหนึ่งทั่วโลกติดเชื้อกันเป็นล้านคนก็ย่อมกลายพันธุ์ไปเร็วมากกว่า จึงคิดว่าไม่น่ากลัวและคงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อผู้ที่รับวัคซีนโปลิโอไปแล้ว