ศจย. เผยผลวิจัย ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ “มากกว่า 7,000 ชิ้น” ยืนยันบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อระบบต่างๆ ของร่างกายชัดเจน ชี้ ไอบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ “มากกว่า 100 ชนิด”

 

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวปรากฏเกี่ยวกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ของกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎรนั้น ความเห็นของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ เกี่ยวกับแนวทางบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยคือ ยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนในระยะยาว ทั้งนี้จากรายงานวิจัยของ NASEM (National Academies of Science, Engineering and Medicine, USA) ตั้งแต่ปี 2018-2021 มีรายงานวิจัยใหม่ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์มากกว่า7,000 ชิ้น พบอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าต่อระบบต่างๆ ของร่างกายชัดเจน โดยบ่งชี้ถึงผลกระทบของไอบุหรี่ไฟฟ้าต่อระบบทางเดินหายใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ซึ่งนักวิจัย นักวิชาการทั่วโลกรวมถึงไทยที่ห่วงใยถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า ต่างเรียกร้องให้ออกมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

“สอดคล้องกับรายงานของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University - ANU) ค.ศ.2022 ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพในไอบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษมากกว่า 100 ชนิด ซึ่งอันตรายของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่แต่มาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า  และรายงานสรุปพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของ ANU ปี 2020 พบว่าอัตราการสูบบุหรี่มวนลดลงได้ด้วยมาตรการทางกฎหมายและการให้บริการช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งในกลุ่มคนที่เลิกบุหรี่ได้ส่วนใหญ่ใช้วิธีหักดิบ (cold turkey) ส่วนอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากลับค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุ 14-17 ปี ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า และพบว่าผู้ที่เคยสูบบุหรี่ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยเลิกบุหรี่มีโอกาสกลับเป็นผู้สูบบุหรี่ซ้ำสูง” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว

 

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในรายงานของกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ ฉบับนี้ ยังมีข้อเสนอแนะถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้าผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่ผิดกฎหมายคือ การเข้าร่วมพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย ในกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก และในรายงานฉบับนี้ ไม่มีส่วนใดเลยที่เสนอให้ยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งรัฐสภา จึงต้องสนับสนุนนโยบายนี้ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า และไม่ให้เกิดหายนะทางสาธารณสุข เช่นที่กำลังเกิดขึ้นกับอังกฤษ ที่พบเด็กอายุ 15 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 18% โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงกว่าเด็กผู้ชาย เพิ่มจาก 10% เป็น 21% ระหว่างปี 2018-2021 เด็กที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 29% เป็น 61% และนิวซีแลนด์ พบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหลังยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้าจาก1.8% เมื่อปี 2018 เพิ่มเป็น 9.6% ในปี 2021 แม้ว่าประเทศเหล่านี้มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี