เปิดพัดลมจ่อเด็กไม่ทำให้เกิดปอดอักเสบ แต่ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ลูกป่วย วิธีป้องกันและดูแลลูก ไม่ให้เป็นปอดอักเสบช่วงหน้าหนาว
ตามที่มีคำแนะนำด้านสุขภาพเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเปิดพัดลมจ่อเด็กเสี่ยงเป็นปอดอักเสบ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าโรคปอดอักเสบ หรือที่เรียกว่า ปอดบวม หมายถึงโรคติดเชื้อที่ปอด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในเด็ก เช่น เชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อฮิบ หรือเชื้อไมโครพลาสมา ส่วนเชื้อไวรัสที่พบบ่อยในเด็ก เช่น เชื้อ RSV, ไข้หวัดใหญ่ , ADENOVIRUS, PARAINFLUENZA VIRUS เป็นต้น
สำหรับการติดต่อของโรคนั้น เชื้อที่เป็นสาเหตุมักอยู่ในน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อได้หลายทาง ตั้งแต่การหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง บางส่วนอาจเกิดจากการสำลักอาหาร การแพร่กระจายตามกระแสเลือด หรือแพร่ผ่านจากมือคนซึ่งมีสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ไปสู่อีกคน โรคนี้พบบ่อยทั้งในผู้สูงอายุ และเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด มีโรคหัวใจ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีภาวะขาดอาหาร อย่างไรก็ตาม โรคปอดอักเสบติดเชื้อในเด็กเป็นโรคที่พบบ่อย และในกรณีที่อาการรุนแรงอาจส่งผลให้มีภาวะหายใจล้มเหลวได้ การป้องกันโรคปอดอักเสบ สามารถทำได้โดย
- หลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานโดยเฉพาะเด็กเล็กเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีคนแออัด เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ หรืออากาศที่หนาวเย็นเกินไป
- หมั่นล้างมือทำความสะอาดบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องสัมผัสเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย
- แนะนำการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง
- ในปัจจุบันมีคำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มนิวโมคอคคัส โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดรุนแรง เช่น เด็กที่ไม่มีม้าม มีโรคไตชนิดเนโฟรติก หรือมีโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ไตวาย โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- หากสงสัยว่าลูกเริ่มมีอาการของโรคปอดอักเสบติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอมาก ควรพามาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ในช่วงหน้าหนาวอย่างนี้ มักจะเกิดอากาศแปรปรวนได้บ่อย อากาศที่เปลี่ยนแปลง บางวันหนาว บางวันร้อน อาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบในเด็กนั้นเกิดได้ง่าย ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานของทางเดินหายใจลดลง จากการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลันของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลมส่วนปลายและถุงลม โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้สังเกตอาการ สำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส มักจะเริ่มจากไข้หวัด เด็ก ๆ จะมีไข้ น้ำมูก ไอมีเสมหะ จนเริ่มมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจเร็ว ลักษณะของเด็กจะจมูกบานเพราะหายใจได้ลำบาก บางรายหายใจแรงและมีเสียงดัง สังเกตเห็นชายโครงบุ๋ม ในเด็กเล็กหรือทารกมักจะซึม ไม่กินนม ไม่ยอมดื่มน้ำ ร่วมด้วย
ส่วนแนวทางการรักษาโรค ผู้ที่ไม่ได้เจ็บป่วยรุนแรง แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะและให้มาดูแลที่บ้าน เด็กเล็กให้พักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารได้ตามปกติ ส่วนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล แพทย์จะรักษาตามอาการ ได้ยาลดไข้ มีการเช็ดตัวลดไข้ เคาะปอดเพื่อระบายเสมหะออก ให้ออกซิเจน ยาขยายหลอดลม ยาขับเสมหะ กระตุ้นให้ดื่มน้ำอุ่นช่วยระบายเสมหะ บางรายได้รับน้ำเกลือทางเส้นเลือด และบางครั้งอาจให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 911 views