เตือนภัยมัจจุราชเงียบ! พบ 23.7% ยังสูบบุหรี่ในบ้าน เผยอันตรายนิโคตินจากควันบุหรี่มือ 2 บุหรี่มือ 3 รุนแรงแค่ไหน ผลที่แท้จริงของนิโคตินที่ส่งผลต่อร่างกายคนรอบตัว

แม้ว่าจะมีการรณรงค์มากมายแค่ไหนเกี่ยวกับพิษภัยของควันบุหรี่ แต่หลายครอบครัวก็ยังต้องเผชิญกับบุหรี่มือ 2 บุหรี่มือ 3 เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่ตระหนักถึงผลกระทบและความรุนแรงจากควันบุหรี่มือ 2 มือ 3 ต่อเด็กและคนในครอบครัว จึงเกิดเป็นเวทีเสวนา “กลับบ้านปีใหม่ ไร้ควันบุหรี่” เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2565 ที่โรงแรมแกรนด์ 

น.ส.รุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเสวนา “กลับบ้านปีใหม่ ไร้ควันบุหรี่” จัดโดยสมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ เครือข่ายครอบครัวปลอดบุหรี่ เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม (Media Move) และ สสส. ว่า ผลสำรวจจากองค์การอนามัยโลกปี 2562 พบทั่วโลกมีเด็ก 65,000 คน เสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปี มีสาเหตุจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ขณะที่ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ยังสูบบุหรี่ในบ้าน 23.7% ในจำนวนนี้ 67.5% มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ในบ้านทุกวัน นอกจากนี้ ในทุก 10 ครัวเรือน ที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จะมี 5 ครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ ในจำนวนนี้มี 3 ครัวเรือนมีการสูบในบ้าน 

“สสส. ให้ความสำคัญการส่งเสริมให้บ้านปลอดบุหรี่ เพราะช่วยลดความเสี่ยงจากการรับควันบุหรี่มือสอง มือสามของสมาชิกในบ้าน และมีส่วนทำให้สมาชิกในบ้านที่สูบบุหรี่สามารถลดและเลิกบุหรี่สำเร็จ ที่สำคัญยังเป็นการปกป้องเยาวชนไม่ให้ทดลองสูบบุหรี่ เพราะคนในครอบครัวที่ไม่สูบบุหรี่จะเป็นต้นแบบในการรักสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด  เนื่องในโอกาสเทศกาลวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง สสส. ขอเชิญชวนผู้ที่สูบบุหรี่ให้ใช้ช่วงเวลาปีใหม่ปีนี้ ตั้งปณิธานในการเลิกบุหรี่ เพื่อเป็นของขวัญแทนความห่วงใยให้ตัวเองและครอบครัวที่คุณรัก ทั้งนี้หากผู้ที่สูบบุหรี่ต้องการความช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่สามารถโทรขอคำปรึกษาได้ฟรีที่สายเลิกบุหรี่ 1600” น.ส.รุ่งอรุณ  กล่าว

นางอัญญมณี บุญชื่อ หัวหน้าโครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงบุหรี่และสุรา (โครงการอาสา) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า เด็กเล็กมีโอกาสเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยตรงจากภัยจากบุหรี่เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เมื่อรับสารพิษจากบุหรี่มือ 2 คือควันบุหรี่และบุหรี่มือ 3 คือเถ้าบุหรี่ จะส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กกลุ่มนี้อยู่ในบ้านและในรถถึง 85% ของแต่ละวัน องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า การป้องกันการสูบบุหรี่และการดื่มสุราควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่ยังไม่เคยตระหนักหรือมีนิสัยนี้มาก่อน โครงการฯ จึงได้ออกแบบกิจกรรมให้เด็กรับมือจากภัยของบุหรี่  ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ละครสร้างการตระหนักถึงภัย  2.กิจกรรมวินิจฉัยความเป็นกลุ่มเสี่ยงผ่านดราม่าเกม  3.กิจกรรมการจัดการความเครียดด้วยตนเองแทนการใช้บุหรี่ 4.กิจกรรมการดูแลตนอย่างสร้างสรรค์ และ 5.กิจกรรมสร้างไอดอลเด็ก ให้เด็กเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ปกครองเกิดการได้คิดจากผลของบุหรี่ที่มีต่อคนในครอบครัว โดยมีครูเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างบ้านและโรงเรียนในการดูแลเด็ก ๆ 

"พ่อแม่ต้องการแรงจูงใจที่ต้องการให้เลิกบุหรี่ แต่ตัวที่ได้ผลจริง ๆ คือ ลูก ทำให้ตัดใจหักดิบได้ โครการฯ เลยกลับมาศึกษางานวิจัย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่า การที่จะเชิญชวนให้วัยรุ่นเลิกบุหรี่ ไม่ได้ผลในระยะยาว เพราะว่าตัวสำคัญคือ ทัศนคติที่ว่า บุหรี่ช่วยจัดการความเครียดจะแก้ยากกว่า เทียบกับการไปลงกับเด็กเล็ก จึงออกแบบกิจกรรมให้เด็กมาฝึกให้เรียนรู้ ทัศนคติ การฝังชิพจัดการความเครียดที่ไม่ต้องใช้บุหรี่" นางอัญญมณี กล่าว

ด้านรศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า คนที่ได้รับบุหรี่มือสอง นิโคตินที่อยู่ในบุหรี่จะเข้าสู่กระแสเลือดถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่เอง เช่นเดียวกับทารกในครรภ์ นิโคตินสามารถเข้าสู่กระแสเลือดเด็กได้ง่าย ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า สารนิโคตินจะส่งผลต่อยีนโน้มนำในต่อมเพศในครรภ์มารดา เมื่อแต่งงานมีลูก ลูกจะมียีนโน้มนำในการเสพติด ทำให้เสพติดได้ง่าย ยีนโน้มนำส่งผลทางพันธุกรรมสืบทอดไปยังรุ่นต่อรุ่นเหมือนกรณีโรคเบาหวาน และมีความเสี่ยงเพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีนิโคตินติดอยู่ ดังนั้น บ้านต้องปลอดบุหรี่ ขอเป็นพลังใจให้ว่าเลิกเถอะเพื่อคนในครอบครัว แต่เข้าใจว่าเลิกได้ยาก เพราะนิโคตินทำให้เกิดแรงเหวี่ยงในร่างกาย หลั่งโดปามีน (dopamine สารเคมีในสมอง ทำให้รู้สึกมีความสุขสบายใจ) ขึ้นสูง เมื่อไม่ได้สูบบุหรี่แล้วดรอปลงจะเหมือนกับลงแดงและโหยหา เมื่อเสพย์ติดนิโคตินไปแล้วจึงต้องมีพี่เลี้ยงในการเลิกบุหรี่ รวมถึงต้องมีวิธีการจัดการความเครียดมาชดเชย

"คนที่เป็นพ่อที่สูบบุหรี่แนะนำให้เปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนเข้าบ้าน แนะนำอย่างนี้มา 20 ปีแล้ว เพราะทันทีที่พ่ออุ้มลูกบนเสื้อผ้าของพ่อจะมีละอองของบุหรี่ กลิ่นตัวของพ่อก็มี กลิ่นนี้เป็นกลิ่นแปลกปลอม เมื่อทารกสูบดมเข้าไปจะเกิดอันตรายได้ โดยหลักการทารกที่อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี อย่าให้ป่วย ป่วยแล้วจะเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องระบบทางเดินหายใจ อาการไม่แพ้กับอาการลองโควิด เกิดเป็นภาวะเรื้อรังต่อตัวเด็ก หอบหืดได้ง่าย หลอดลมไวต่อสิ่งเร้า เพราะอนุภาคบุหรี่" รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว

ด้านนางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม กล่าวว่า  จากประสบการณ์การทำงานครอบครัวปลอดบุหรี่ โดยการสร้างการเรียนรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว พบผู้เข้าร่วมกิจกรรม 208 คน มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่คือ ไม่สูบบุหรี่ในบ้านและบริเวณบ้าน 171 คน ในจำนวนนี้ ลดปริมาณการสูบได้ 135 คน และเลิกสูบบุหรี่ได้ 24 คน หนึ่งในสาเหตุที่ต้องการเลิกบุหรี่คือ อยากให้ลูกภูมิใจ  และตระหนักถึงผลกระทบต่อคนในครอบครัว ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การลดละเลิกเป็นเป้าหมายที่ยากจริง ๆ จากกระบวนการที่ทำกับหลายครอบครัว เพียงไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จก็โอเคแล้ว แต่สำคัญที่ระยะเวลาของการเลิกจะทำให้รู้ว่าเลิกได้จริง ๆ ไหม เพราะมีกรณีที่เลิกบุหรี่ไปแล้ว 25 ปี กลับมาสูบบุหรี่อีกเพราะความเครียดจากการทำงาน หลายคนยังสูบบุหรี่ในบ้านและบริเวณบ้าน แม้ว่าจะไม่ได้สูบบุหรี่อยู่ผู้สูบก็ยังมีกลิ่นจากตัวเอง กระทบต่อคนในครอบครัว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org