“สาธิต” เปิดศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี เป็นศูนย์กลางรับเรื่องร้องเรียน เฝ้าระวัง สืบค้น และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่ให้บริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ได้มาตรฐาน พวก “หมอเถื่อน-คลินิกเถื่อน” ใครพบเบาะแสแจ้งสายด่วน 1426 หรือเฟซบุ๊กกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมมอบอธิบดีฯ ขับเคลื่อนประสานความร่วมมืออินฟลูเอนเซอร์ เฝ้าระวังร่วมกัน ด้านสบส.เผยเปรียบเทียบปรับแล้ว 164 คดี
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ที่ชั้น 6 อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยมี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน
นายสาธิต กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรับเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแส รวมถึงเฝ้าระวัง ตรวจสอบการกระทำผิดทางเทคโนโลยี สืบค้นผู้กระทำความผิดที่มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด พร้อมประสาน วิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งทำการตรวจสอบการกระทำความผิดอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ สามารถจัดการประเด็นปัญหาของผู้บริโภค (Pain Point) ได้ถูกต้อง ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและเป็นธรรม
นายสาธิต กล่าวอีกว่า สบส.จะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือระหว่าง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย โดยมี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นฝ่ายเลขานุการ นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ตรวจจับสื่อโฆษณาที่ผิดกฎหมาย เพื่อเพิ่มความครอบคลุม และเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ไม่ได้เน้นปราบปรามอย่างเดียว แต่ยังเน้นให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพที่ปลอดภัยสูงสุด โดยให้ผู้ประกอบวิชาชีพเข้าสู่ระบบของกรมสนับสนุนบริการฯ เพื่อควบคุมดูแลอย่างรอบด้าน
รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. กล่าวว่า มีการร้องเรียนเข้ามามาก แต่ปัญหาคือ กรมฯ ยังมีบุคลากรที่เป็นหลักน้อยเกินไป ขณะนี้จึงจำเป็นต้องเกลี่ยคน โดยใช้กองกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งเมื่อรับแจ้งมาอาจไม่ทันได้ เช่น กรณีหมอกระเป๋า แต่ขณะนี้ก็มีการดำเนินการเพื่อให้เร็วที่สุด เกลี่ยกำลังคน ทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กระบวนการทางกฎหมายเร็วขึ้น ตรวจสอบ จับกุมให้รวดเร็วที่สุด โดยหลังจากสืบค้นแล้วภายใน 24 ชั่วโมงสามารถดำเนินการลงไปล่อซื้อได้ทันที
“ประชาชนหรือใครหากพบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับการบริการสุขภาพ หรือไม่แน่ใจว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ ก็สามารถแจ้งมายังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ทาง โทร. 1426 หรือแพลตฟอร์มของกรมฯ เฟซบุ๊กกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยปัญหาที่ร้องเรียนพบมากที่สุด คือ หมอเถื่อน หมอกระเป๋า คลินิกเถื่อน ฯลฯ นอกจากนี้ จะมีการขับเคลื่อนร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ในการช่วยเฝ้าระวัง ซึ่งเรื่องนี้อธิบดี สบส. จะดำเนินการต่อไป” นายสาธิต กล่าว
ด้านนพ.สุระ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี มีพนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย เป็นผู้ดำเนินการสืบค้น ตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลหรือโฆษณาของสถานพยาบาลและสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือที่ได้รับเบาะแสจากภาคีเครือข่ายและประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายในลักษณะของการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโอ้อวดเกินจริง ที่อาจจะส่งผลกระทบหรือความเสียหายต่อผู้บริโภค ซึ่งไม่เพียงจะมีการเรียกสถานพยาบาล หรือสถานประกอบการมาดำเนินคดี ในกรณีที่พบการกระทำผิด แต่จะมีการขยายผล ติดตามพฤติกรรม ตรวจสอบไปถึงผู้ที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในระบบออนไลน์อีกด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ API (Application Programming Interface) มาใช้เชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชั่น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย
“ผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 มีการตั้งอนุกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์ จนถึงปัจจุบันมีการดำเนินคดีจับกุมและปราบปรามหมอเถื่อน สถานพยาบาลเถื่อน จำนวน 40 คดี และมีการสืบค้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย นำมาสู่การเปรียบเทียบปรับ 164 คดี ซึ่งค่าปรับมีตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท” นพ.สุระ กล่าว
- 2720 views