‘ดอน’ เปิดงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล เผยเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ครอบคลุมประชากรได้ถ้วนหน้า สามารถตอบสนองความท้าทายใหม่ๆ ได้ ยืนยันพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง – ขยายความครอบคลุม เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ ในระบบ
วันที่ 9 ธันวาคม 2565 ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ มีการจัดงานวันหลักประกันสุขภาพสากล 2022 : “สร้างโลกอย่างที่เราอยากจะให้เป็น สร้างอนาคตที่ดีสำหรับทุกคน” (International Universal Health Coverage Day 2022: Build the World We Want: A Healthy Future for All) เนื่องในโอกาสวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล 12 ธันวาคม โดยมีนักการทูต ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายวิชาการเข้าร่วมงาน
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปาฐกถาเปิดงานตอนหนึ่งว่า การเข้าถึงการรักษาพยาบาล คือหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นต้องสร้างผ่านเจตนำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ และคำมั่นสัญญาที่หนักแน่น สำหรับประเทศไทย ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประสบความสำเร็จครอบคลุมประชากรทั้งหมดนับตั้งแต่ปี 2545 นั้น ถือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ครอบคลุมประชากรอย่างครบถ้วน และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลได้ง่ายที่สุด ขณะเดียวกัน การลงทุนในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายิ่งคุ้มค่า เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข
ทั้งนี้ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรก ประเทศไทยยังคงเดินหน้าในระบบนี้อย่างมั่นคงต่อไป โดยการตัดสินใจริเริ่มเรื่องนี้ถือเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ส่งเสริมและปกป้องสิทธิของประชาชนในด้านสุขภาพ ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงมีนโยบายในการสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ๆ ทั้งในเรื่องรูปแบบของโรคภัยไข้เจ็บที่เปลี่ยนไป สังคมสูงวัย ตลอดจนความต้องการเฉพาะของประชากร
“แม้จะมีความคืบหน้าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เผยให้เห็นถึงช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในแวดวงสาธารณสุข ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องสร้างระบบสุขภาพที่แข็งแกร่ง และเท่าเทียมกันขึ้น ระบบสาธารณสุขทั่วโลกต้องได้รับการปฏิรูปเพื่อความเสมอภาคมากขึ้น โดยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นแกนกลาง
เมื่อคำนึงถึงสิ่งนี้ ประชาคมระหว่างประเทศจึงต้องทำงานหนักต่อไปเพื่อให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ในวาระหารือระหว่างประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งใน “สนธิสัญญาโรคระบาด” หรือ Pandemic Treaty ภายใต้องค์การอนามัยโลก
“อีกไม่ถึงปีนับจากนี้ บรรดาผู้นำจะประชุมกันที่การประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ UHC (Universal Health Coverage) ที่สำนักงานสหประชาชาชาตินิวยอร์ก เพื่อต่ออายุสิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศเคยให้คำมั่นไว้เมื่อปี 2019 โดยประเทศไทยและประเทศกายอานา ยังคงยินดีที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมอำนวยความสะดวกในกระบวนการเจรจาของปฏิญญาทางการเมืองฉบับใหม่ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ UHC อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพภายในปี 2573 รวมถึงเร่งผลักดันเรื่องสุขภาพภายใต้แผนพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ให้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ
ขณะที่ นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นเสาหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยตลอด 2 ทศวรรษที่ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยสิ่งที่ทำให้พาประเทศไทยเดินมาถึงจุดนี้คือการลงทุนในระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และความเชื่อที่ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สำหรับวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ของประเทศไทยคือ ‘ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ และประชาชนไม่ได้เข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่จำเป็นต้องเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเท่าเทียมในสังคม
“ระบบสุขภาพหลังการระบาดของโรคโควิด-19 จำเป็นต้องปรับตัว และอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม และอาสาสมัคร อีกทั้งยังต้องขยายไปสู่การออกแบบระบบการเงินการคลัง และการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน” นพ.โสภณ ระบุ
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังเกิดโรคระบาด กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญทั้งกับ บุคลากร เทคโนโลยี และการขยายสถานบริการ ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ มีการปรับตัวของบริการด้านการดูแลสุขภาพที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ได้แก่ การแพทย์ทางไกล เภสัชกรทางไกล และการขยายความครอบคลุมของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่มีคุณภาพ
ด้าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นความสำเร็จสำคัญของประเทศไทย โดยแม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย แต่ก็สามารถทำให้นโยบายนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ สำหรับความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลักการ ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ หรือการใช้สามเหลี่ยม เป็นคานงัดภูเขา ผลักดันให้เรื่องยากๆ เกิดขึ้นจริง เปรียบเสมือนการเขยื้อนภูเขาไปข้างหน้าได้
สำหรับสามเหลี่ยม แบ่งออกเป็น การสร้างความรู้ที่เกี่ยวข้อง ความเคลื่อนไหวทางสังคม และอำนาจรัฐ ไปสู่ ‘การเมือง’ เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบาย โดยหากสะสมความรู้มากพอ มีความเคลื่อนไหวทางสังคมประกอบไปด้วย อำนาจรัฐจะฟัง และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ศ.นพ.ประเวศ ระบุว่า หากหลักการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขานั้นสามารถขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ในไทย ประเทศอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน พร้อมกับขอให้ทุกประเทศลงมือทำในนโยบายเช่นนี้
ด้าน พญ.โอลิเวีย เนเวรัส (Olivia Nieveras) ตัวแทนจากองค์การอนามัยโลก สำนักงานประเทศไทย ชื่นชมประเทศไทยในฐานะเป็นผู้นำด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยต่างประเทศล้วนเห็นประเทศไทยเป็นตัวอย่าง และประเทศไทยก็มีศักยภาพและมีความรู้มากมายที่เป็นคุณประโยชน์กับวงการสาธารณสุขโลก
อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ควรคำนึง หนึ่งในนั้นคือการทำให้บริการสุขภาพมีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่องค์ประกอบการพัฒนาระบบหลักสุขภาพ องค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ การขยายความครอบคลุมของประชากรและสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองทางการเงิน ความท้าทายอื่นๆได้แก่ ต้นทุนการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ความต้องการบริการสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป และสังคมผู้สูงอายุที่จะมีความต้องการบริการสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น
พญ.โอลิเวียระบุด้วยว่าที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถพัฒนาสิทธิประโยชน์ได้ค่อนข้างดี และตอบโจทย์กับสภาพประชากรที่เปลี่ยนไป แต่เชื่อว่ายังสามารถพัฒนาปรับปรุงได้อีก โดยเฉพาะในด้านการเพิ่มคุณภาพบริการและความพึงพอใจของผู้ป่วยที่มารับบริการ
นอกจากนี้ พญ.โอลิเวียยังเสนอแนะว่า ระบบสุขภาพควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและป้องกันโรค มากกว่าสนใจแค่การรักษาที่ปลายทาง รวมทั้งสร้างระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวม มากกว่าที่จะเน้นการรักษาเพียงอย่างเดียว และควรให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพมนุษย์ และปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพนอกภาคส่วนสาธารณสุข โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะก่อให้เกิดภัยธรรมชาติและเพิ่มจำนวนผู้เปราะบางมากยิ่งขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 144 views