วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล (UHC Day) ปี 2562 กระตุ้นทั่วโลก “รักษาสัญญา” เร่งสร้าง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ให้บรรลุภายในปี 2573 พร้อมเผยบันได 6 ขั้นสู่ความสำเร็จเพื่อดูแลความมั่นคงสุขภาพของประชาชน ที่สรุปรวบรวมได้จากเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ ประเทศไทยพร้อมหนุนนานาประเทศ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ตามมติในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ได้รับรองให้วันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” หรือ Universal Health Coverage Day: UHC Day เพื่อผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลสุขภาพประชากรในประเทศของตนเอง โดยในปี 2562 นี้ องค์การอนามัยโลกรณรงค์โดยชูประเด็น “รักษาสัญญา” (Keep the Promise) เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงการเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้บรรลุภายในปี 2573 หรือ UHC2030 ตามคำรับรองปฏิญญาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติประจำปี 2562 เมื่อเดือนกันยายน 2562 และมุ่งให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs)
ทั้งนี้ประเทศไทยนับว่าประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเริ่มกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 มีการประกาศเป็นนโยบายชัดเจนโดยรัฐบาลและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง จนเป็นต้นแบบให้กับนานาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และในการประชุมเต็มคณะระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงความมุ่งมั่นใน 3 เรื่อง ที่ทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยประสบผลสำเร็จ คือ 1.สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพ 2.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณกองทุน รวมถึงการเน้นส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และ 3.สร้างการมีส่วนร่วมที่เป็นปัจจัยสำคัญให้หลักประกันสุขภาพมีความยั่งยืน พร้อมยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แม้เป็นประเทศไม่ร่ำรวยก็ดำเนินนโยบายนี้ได้
นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปีนี้ (Prince Mahidol Award Conference 2020 หรือ PMAC 2020) ได้กำหนดการประชุมในหัวข้อ “เร่งรัดความก้าวหน้าเพื่อนำไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โดยประเทศไทยจะนำประสบการณ์ บทเรียนต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มานำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาประเทศไทยยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเข้าศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ เคนยา เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย แอฟริกาใต้ และโมร็อกโก เป็นต้น ซึ่งจุดเด่นของไทยคือเรามีองค์ความรู้ด้านสุขภาพ มีสาธารณสุขมูลฐานที่ดีรวมถึงหน่วยบริการที่ครอบคลุม และมี อสม.ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจะนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศตนเอง เช่นเดียวกับไทยเองได้เรียนรู้จากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าศึกษาดูงานเช่นกัน
“ไทยสนับสนุนให้นานาประเทศเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลประชาชน ที่ผ่านมามีหลายประเทศทั่วโลกได้เร่งเดินหน้าแล้วเพราะต่างเล็งเห็นแล้วว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เพียงแต่สร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพให้กับประชาชน แต่ยังเป็นรากฐานความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าประเทศต่าง ๆ จะสามารถรักษาสัญญาโดยสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จตามเป้าหมายสหประชาชาติในปี 2573” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2030 (UHC2030 partners) ได้พัฒนาบันได 6 ขั้นสู่ความสำเร็จเพื่อดูแลความมั่นคงสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในปฏิญญาทางการเมืองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้จากที่ประชุมระดับสูงสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นทิศทางการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประสบความสำเร็จ คือ1.ความมุ่งมั่นของผู้นำทางการเมืองนอกเหนือจากด้านสุขภาพ โดยกำหนดให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระสำคัญในทุกรัฐบาล 2.การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และกำหนดให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน 3.กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ สนับสนุนการสร้างและดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เข้มแข็ง
4.การรักษาคุณภาพบริการ เน้นการสร้างระบบสุขภาพที่มีคุณภาพ ประชาชนมั่นใจ โดยมีระบบปฐมภูมิเป็นฐานสำคัญในการขยายความครอบคลุมการเข้าถึงบริการ 5.การลงทุนเพิ่มและลงทุนที่ดีขึ้น เน้นที่การจัดการลงทุนสุขภาพที่สมดุลและยั่งยืน ลดความยากจนจากค่าใช้จ่ายสุขภาพ และ 6.การขับเคลื่อนไปด้วยกัน สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคีเครือข่ายในสังคม เพื่อการมีสุขภาพดีของโลก
“ขณะนี้ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างมาก เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าบันได 6 ขั้นนี้ จะเป็นเหมือนกับเข็มทิศที่นำพาประเทศต่าง ๆ ไปสู่ความสำเร็จภายใน 11 ปี ตามเป้าหมายของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 8 views