ปลัดกระทรวงสาธารณสุขย้ำ! เงินเสี่ยงภัยโควิดได้รับแน่ หากตรงเกณฑ์ ระบบราชการไม่เคยเบี้ยวใคร ส่วนโซเชียลฯระบุรัฐกู้เงินมาหมดแล้ว หวั่นไม่มีจ่ายบุคลากร ไม่ต้องห่วง เงินกู้กู้มาใช้ และโอนจ่ายให้บุคลากรแล้วกว่า 80% ยังเหลืออีกกว่า 10% มีปัญหาบางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนที่ยังขาดใช้งบกลาง ซึ่งอนุมัติถึง มิ.ย. ยังขาดอีก 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.65) รอพื้นที่ส่งข้อมูลของบฯเพิ่มเติม กำชับ นพ.สสจ.สื่อสารให้เข้าใจ
ตามที่สหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) ประกาศเตรียมเคลื่อนไหวหลังปีใหม่ ขอเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ช่วยเหลือหลังไม่ได้รับความเป็นธรรมเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด-19 โดยเฉพาะลูกจ้างสายสนับสนุนบริการ ซึ่งได้รับเงินเสี่ยงภัยโควิดไม่ครบเพียง 1-2 เดือน ขณะที่ทำงานเสี่ยงโควิดมาตลอด รวมทั้งขอให้ปรับโครงสร้างเงินเดือนลูกจ้างจากเงินบำรุง เป็นเงินงบประมาณนั้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สหภาพลูกจ้างฯ รวมพลหลังปีใหม่ ขอ “อนุทิน” ช่วยเหลือหลังไม่ได้รับความเป็นธรรมเงินเสี่ยงภัยโควิด)
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า เรื่องนี้นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. เป็นผู้ดูแลและรายงานข้อมูลว่า โดยหลักการค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดคนที่เข้าเกณฑ์ทุกคนต้องได้รับค่าเสี่ยงภัยตรงนี้ และรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จัดสรรให้ตลอด ไม่มีเงินก็ไปกู้เงินมาจ่าย ซึ่งข่าวที่บอกว่า ใช้เงินกู้หมดแล้วก็แน่นอน เพราะกู้มาและใช้จนหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้รัฐบาลเริ่มมีรายได้ก็จะไม่ต้องกู้อีก เพราะการกู้ต้องเสียดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รับงบประมาณกลางมาจนถึงเดือนมิ.ย. ยังขาดอยู่ตั้งแต่เดือนก.ค. ส.ค. และก.ย. 2565 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานกลางกำลังรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ว่า อีก 3 เดือนต้องใช้เงินเท่าไหร่ ซึ่งมีทั้งหน่วยงานในกระทรวงฯและนอกกระทรวงฯ กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ ปัญหาคือ หน่วยต่างๆ รวบรวมข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้ไม่มีตัวเลขไปขอเงินรัฐบาล
“ที่ผ่านมาอนุมัติจนถึงเดือนมิ.ย. งบเงินกู้ไม่พอ รัฐบาลจึงต้องใช้งบกลางมาโปะ หากงบประมาณมาแหล่งเดียวก็จะง่าย ไม่ต้องใช้ระบบจัดสรรเยอะ แต่ช่วงที่ผ่านมาโควิด 2 ปีรายได้รัฐบาลก็ลดลง การท่องเที่ยวก็ไม่ดี ซึ่งรัฐบาลก็พยายามหาแหล่งเงินมาใช้ โดยเงินกู้มีดอกเบี้ย ก็ต้องใช้ให้หมด การที่งบเงินกู้เป็นศูนย์ก็ถูกต้อง” ปลัดสธ.กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า คนส่วนใหญ่งบจนถึงเดือนมิ.ย. ได้ครบแล้ว 80-90% เหลืออีกกว่า 10% มีปัญหา คือ 1.เงินกู้ คนดูแลเป็นสภาพัฒน์ ส่วนงบกลาง เป็นสำนักงบประมาณดูแล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้อยากแบ่งแยก แต่กติกามาแบบนี้ก็ต้องทำ และเงินกู้เสียดอกเบี้ย จึงต้องมีหลักฐานเอกสารค่อนข้างละเอียด ก็จะมีข้อมูลต่างๆเยอะ ซึ่งหากเอกสารไม่ครบก็จ่ายเงินไม่ได้ ต้องเอกสารครบก่อน ไม่เช่นนั้นหากหลักฐานไม่ครบก็จะถูกเรียกเงินคืนได้ จึงต้องย้ำว่า ขอให้ทวนข้อมูลให้ครบถ้วน ทั้งนี้ มีบางหน่วยเช่นกันขอเงินกู้ 90 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาเอกสารกลับไม่ครบถ้วนทำให้เงินกู้เหลือ 45 ล้านบาท ตัวเหลือจะจ่ายแทนงบกลางไม่ได้ เพราะเงินคนละแบบ อย่างงบกลาง เดิมขอมา 15 ล้านบาท แต่มาดูเอกสารอีกครั้งกลับเพิ่มเป็น 80 ล้านบาท เงินไม่พอก็ต้องขอเพิ่มเติม
“ขอยืนยันว่าระบบราชการไม่เคยเบี้ยวใคร เพียงแต่มีขั้นตอนดำเนินการ ขณะนี้ได้สั่งการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ว่าในพื้นที่มีใครยังไม่ได้งบกลางบ้าง จะได้ไปทวนข้อมูลและของบประมาณเพิ่มเติม ตอนนี้เร่งรัดนพ.สสจ. ให้ตรวจสอบคนในสังกัดของท่านแล้วว่า มีปัญหาอะไร จะได้แก้ไขต่อไป"
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องสื่อสารในพื้นที่ให้เข้าใจเรื่องเงินเสี่ยงภัยโควิดอีกหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้นพ.ทวีศิลป์ สื่อสารเรื่องนี้หลายๆรอบ ซึ่งเคยสื่อสารจากส่วนกลางลงไปแล้ว 3 รอบ ก็คงต้องสื่อสารรอบที่ 4 หลายๆรอบลงไปให้เข้าใจมากขึ้น ส่วน นพ.สสจ. ได้ย้ำแล้วว่า ก็ต้องสื่อสารในพื้นที่ด้วย แต่ก็เข้าใจว่า ท่านลูกน้องเยอะแต่ก็ต้องสื่อสารกัน
เมื่อถามว่ามีบุคลากรในรพ.บางส่วนบอกว่าถูกให้เซ็นรับเงินเสี่ยงภัยโควิดก่อนได้รับเงินจริง นพ.โอภาส กล่าวว่า ตรงนี้ต้องไปดูรายละเอียดว่า มีข้อมูลอย่างไร แต่จริงๆแล้วจะมีระบบตรวจสอบ มีหลักฐาน ระบบการเงินตรวจสอบอยู่แล้ว ขอยืนยันอีกครั้งว่า งบประมาณภาครัฐไม่เคยเบี้ยวใคร มีแต่จ่ายช้าจ่ายเร็ว ขึ้นกับกระบวนการหลักฐาน
“ตอนนี้งบเงินกู้หมดแล้ว โอนจ่ายไปแล้วกว่า 80% แล้ว ซึ่งมีหลายหมวด ส่วนเงินจากงบกลางนั้นอนุมัติมาถึงเดือน มิ.ย. ยังขาดเดือนก.ค. ส.ค.และก.ย. 2565 ซึ่งรอทางพื้นที่ส่งข้อมูลเข้ามาว่าต้องการอีกเท่าไหร่” ปลัด สธ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดจากสำนักงบประมาณ โดยข้อมูลจากระบบ GFMIS วันที่ 1 ธ.ค. 2565 เงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดจากแหล่งงบประมาณ 2 ส่วน คือ 1.งบเงินกู้ สำหรับค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดในกลุ่มบุคลากรวิชาชีพ จำนวนรวม 10,024,121,605.03 บาท เบิกจ่ายแล้ว 8,596,739,717.82 บาท คิดเป็น 85.76% คงเหลือ 1,427,381,887.21 บาท และ2.งบกลางค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดในกลุ่มสนับสนุนการปฏิบัติงาน จำนวนรวม 871,203,436 บาท เบิกจ่ายแล้ว 845,500,942.76 บาท คิดเป็น 97.04% คงเหลือ 25,702,493.24 บาท
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 5993 views