“หมอธงชัย” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตอบคำถามข้อสงสัยเพราะอะไรต้องควบคุม “ช่อดอกกัญชา” และประกาศกระทรวงสาธารณสุขคุมเข้มได้แค่ไหน จับกุมได้จริงหรือไม่ ขณะที่พ.ร.บ.กัญชากัญชงฯ จำเป็นแค่ไหน รวมคำถามหลักๆตรงนี้...
ทันทีที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แถลงถึงกัญชาทางการแพทย์แผนอนุทิน ว่า มีความผิดเพี้ยนจากมาตรฐานสากล ขณะที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาเพื่อควบคุมการใช้กัญชาทางการแพทย์ ไม่ให้ใช้ผิดวัตถุประสงค์ อย่างประกาศ สธ. เรื่องสมุนไพรควบคุม(กัญชา) ที่มุ่งควบคุมการใช้ “ช่อดอกกัญชา” บังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมากลับไม่สามารถบังคับทางกฎหมายได้จริง แน่นอนว่า กระทรวงสาธารณสุขออกมาชี้แจงว่า สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ และอีกสารพัดคำถามที่ออกมา ณ ขณะนี้
ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้รวบรวมคำตอบจากตัวอย่างคำถามหลักๆ จากถ้อยคำของ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ว่า แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร เริ่มตั้งแต่....
คำถาม : ปัจจุบันกัญชาทางการแพทย์ หรือกัญชาไทยเสรีเต็มรูปแบบ เนื่องจากชาวบ้านบางส่วนเข้าใจว่าปลูกและใช้ในบ้านได้
นพ.ธงชัย : เราพูดชัดว่าเราสนับสนุนนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ เศรษฐกิจและสุขภาพ กัญชามาเดี่ยวๆ ไม่ได้ วันนี้เราใช้กฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่ ควบคุมได้ แต่จะมีขั้นตอนการบังคับใช้ มีข้อจำกัดบางประเด็น
คำถาม : ทำไมถึงควบคุมกัญชาเป็นส่วนๆ อย่างประกาศ สธ.คุมเฉพาะช่อดอก
นพ.ธงชัย : หากดูตามข้อกำหนดมาตรา 3 ในพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยฯ จะเห็นว่า สมุนไพรควบคุม หมายถึงสมุนไพรที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งคำว่าสมุนไพรในพ.ร.บ.นี้ไม่ได้หมายความถึงพืชอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงสัตว์ด้วย ในมาตรา 44 ก็บอกว่าอยู่ว่าสามารถกำหนดประเภทลักษณะชนิดของสมุนไพรได้ ซึ่งมีการคุยกับผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าเราสามารถกำหนดเฉพาะส่วนได้ จึงเป็นที่มาว่าประกาศชุดนี้เราจะคุมเฉพาะช่อดอก เรื่องนี้ขออนุญาตสื่อสารอีกครั้ง ที่ไม่คุมทั้งต้น เพราะจะเป็นภาระของประชาชนในการที่จะต้องมาขออนุญาต มีความยุ่งยาก ความเป็นไปไม่ได้ในการจัดการ และไม่ได้มีผลอะไรมาก โดยข้อมูลทางวิชาการชัดเจนว่าส่วนอื่นที่ไม่ใช่ช่อดอกไม่ว่าจะเป็นกิ่ง ก้าน ราก ใบ มีสาร THC ไม่สูง ขณะเดียวกันก็มีสาร CBD ที่มาทำให้ผลของ THC ที่มีผลต่อจิตประสาทลดลง มีงานวิจัยรองรับว่าการใช้ใบสูบ จะทำให้ไม่ได้ฤทธิ์ของ THC แต่ช่อดอกกลับมีสาร THC สูง จึงเป็นสาเหตุที่ต้องควบคุม
คำถาม : สรุปแล้วประกาศ สธ.คุมช่อดอกกัญชา สามารถบังคับใช้หรือดำเนินคดีตามกฎหมายได้จริงหรือไม่
นพ.ธงชัย : ปกติการออกกฎหมายใดๆ ช่วงแรกที่มีผลบังคับใช้ก็จะเป็นการชี้แจงต่อประชาชนว่าสิ่งใด ทำได้หรือไม่ได้ อย่างที่ตนลงพื้นที่ถนนข้าวสาร แล้วพบว่ามีบางร้านติดป้ายเชิงโฆษณา ก็แจ้งให้เขาเอาออก ก็จะเป็นตามลำดับ คือ ตักเตือน พักใช้ใบอนุญาต แต่ถ้ายังไม่หยุดทำก็จะต้องยึดใบอนุญาตแล้วงดออกใบอนุญาตให้กับรายนั้น 2 ปี ยืนยันว่า ประกาศ สธ.ใช้ได้จริง แต่จะให้ดีที่สุดยืนยันว่า ต้องมีกฎหมายเฉพาะ คือ พ.ร.บ.กัญชาฯ มีความจำเป็นมาก เพื่อไม่ให้ต้องใช้กฎหมายหลายฉบับ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้อย่างคล่องตัว
คำถาม : ประกาศ สธ.คุมช่อดอกกัญชา ฉบับดังกล่าวสามารถเอาผิดคนขายผ่านออนไลน์ได้หรือไม่
นพ.ธงชัย : การขายออนไลน์เป็นหนึ่งในประกาศฯ ที่ห้ามกระทำ ซึ่งจะมีความผิด โดยกรมฯ ได้เตรียมการประสานกับกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะมีการประชุมกันวันที่ 7 ธ.ค. นี้ เพื่อรับทราบข้อปฏิบัติร่วมกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานอื่น อาจดูไม่ออกว่าใช่ช่อดอกกัญชาหรือไม่ จึงจำเป็นต้องให้เจ้าพนักงานของกรมฯ ช่วยยืนยัน หรืออาจยืนยันจากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ที่กรมฯ จากนั้นจึงแจ้งความกับตำรวจเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย
“กรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทโพสต์เป็นข้อมูลเก่า เราได้ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่มีภาพตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) เอาไปโฆษณาขายช่อดอกกัญชา ทาง มข. ก็ได้ชี้แจงแล้วว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ ดังนั้น วันนี้เรามีการดำเนินการเรื่องนี้อยู่ หากประชาชนพบเห็นข้อมูลสามารถส่งมาได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ กระทรวงสาธารณสุข หรือแจ้งไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เพื่อให้เจ้าพนักงานของกรมฯ ดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่ามีความผิดจริง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดำเนินการตามกฎหมาย”
คำถาม : คนไทยปลูกกัญชาพื้นบ้านไม่มีมาตรฐาน มีสารโลหะหนักจริงหรือไม่
นพ.ธงชัย : ตนได้ลงพื้นที่หลายแห่ง คนไทยมีภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งกรมฯ กำลังรวบรวมข้อมูลส่วนนี้ อย่างเช่น วิสาหกิจชุมชนโนนสะอาด จ.อุดรธานี ปลูกกัญชาเรียนรู้ พัฒนาจนมีมาตรฐาน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย ทั้งสินค้าและยา อย่างการดองกัญชาทำเป็นยาใช้กันเองในชุมชนและได้ประโยชน์ด้านสุขภาพ หรือเป็นกัญชาลุงดำ ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ฉะนั้น จะบอกว่าชาวบ้านไม่รู้จัก ทำกัญชาไม่มีคุณค่า จึงไม่ถูกต้อง ที่สำคัญการนำกัญชาไปทำยา ผ่านการตรวจสารโลหะหนักแล้ว พร้อมให้ข้อมูลความรู้ประชาชนให้รู้จักการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ ดังนั้น ชาวบ้านเขามีความรู้อยู่แล้ว
ตัวอย่างแบบนี้มีเยอะในหลายพื้นที่ จริงๆ ท่านสมาชิกผู้แทนฯ แต่ละท่านก็น่าจะเห็นในพื้นที่ของท่านเองอยู่ จะบอกว่าไม่มีประโยชน์กับประชาชน จึงไม่ใช่ หากเราดูย้อนไป กัญชาเป็นพืชที่ใช้หลายพันปี อย่างไทยที่เห็นชัดๆ คือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีตำรับยากัญชาเป็นส่วนประกอบ ผู้เชี่ยวชาญแผนไทยก็ได้เอามาทบทวนด้วยวิธีคิดแผนปัจจุบัน เราก็ได้ตำรับยาที่เข้าบัญชียาหลักกว่า 10 ตำรับ
ภาพของกรมการแพทย์แผนไทยฯ
คำถาม : กัญชาทางการแพทย์มีงานวิจัย หรือมีการศึกษาใช่หรือไม่
นพ.ธงชัย : มีการศึกษา อย่างสูตรกัญชาที่ได้รับการยอมรับ ใช้ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ “น้ำมันกัญชาสูตรอ.เดชา” ขณะนี้จ่ายให้ผู้ป่วยแล้วกว่า 100,000 ราย ของกรมฯ เองก็มีตำรับเมตตาโอสถและการุณย์โอสถ ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ มีการจ่ายยาไปแล้วหลักหมื่นราย ขณะที่องค์การเภสัชกรรม(อภ.) ก็ผลิตน้ำมันกัญชาอีก 4 สูตรใช้ในการแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ทั้งหมดนี้เป็นจุดแข็งของไทย เมื่อตอนที่ตนไปประชุมกัญชาทางการแพทย์ต่างประเทศ ทางยุโรป หรือประเทศอิสราเอลที่ทำกัญชากันมานาน เขากลับมองว่าของไทยดีเพราะมีภูมิปัญญาเดิม เราจึงควรเอาจุดแข็งมาต่อยอด
“ยืนยันว่ากัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ สามารถทำได้จริง ประชาชนทั่วประเทศ หลายจังหวัดมีตัวอย่าง ในอดีตที่แอบปลูกพัฒนากันมาเอง แต่ตอนนี้เปิดเผยได้แล้ว สูตรเหล่านั้นก็ถูกยกขึ้นมาใช้อย่างถูกต้อง”
นอกจากนี้ ในส่วนกรมการแพทย์ก็มีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่ามีโรคที่ใช้กัญชาในการรักษาโรคอยู่ 6 โรค คลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาก โรคกล้ามเนื้อหดเกร็งในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคปวดประสาทส่วนกลางที่ได้รักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล ในคนไข้เบื่ออาหาร ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยมีน้ำหนักน้อย และการเพิ่มคุณภาพชีวิตในการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง หรือระยะสุดท้าย หลายคนที่ใช้บอกว่าทำให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตมีคุณภาพมากจากเดิม เป็นต้น
“ยังมีอีกหลายโรคที่อยู่ระหว่างการวิจัยแต่มีข้อมูลสนับสนุน เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ สมองเสื่อมต่างๆ หรือมีความผิดปกติในเรื่องของมะเร็งโรคเหล่านี้อยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัยซึ่งต้องใช้เวลาเราเพิ่งเปิดการใช้กัญชาและเริ่มมีการใช้มาไม่กี่ปีเพราะฉะนั้นคงต้องมีการศึกษาต่อ”
นพ.ธงชัย ยังกล่าวย้ำตอนท้ายว่า ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย ก็อยากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณาให้กฎหมายกัญชาออกมาบังคับใช้ถ้าท่านมีข้อคิดเห็นประการใดท่านก็สามารถใช้กระบวนการในสภาดำเนินการได้ ใช้กระบวนการประชาธิปไตยที่เราเห็นด้วยเข้าไปดำเนินการตรงนี้ ไม่อยากให้มาโจมตี ในฐานะที่ตนเป็นข้าราชการที่ทำตามกฎหมายตามกระบวนการที่ทำอยู่ วันนี้ยังไม่มีกฎหมายใหญ่ออกมา เราก็มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพิ่ม ตนตอบมาหลายครั้งว่าเวลาใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่าใช้กับฉบับเดียว ถ้าจะใช้ฉบับเดียวก็กรุณาออกกฎหมายกัญชาออกมา ถ้ามีอะไรที่เป็นข้อกังวลก็ไปออกกันในสภา อันนั้นไม่ใช่หน้าที่ของตน หน้าที่ของตนคือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “อนุทิน” โต้กลับ “ส.ส.บัญญัติ” หลังถามความรับผิดชอบรมว.สธ. เหตุพบภาพเด็กดูดบ้องกัญชาริมหาด)
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : เว็บไซต์ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ "คุมช่อดอกกัญชา" มีผล 24 พ.ย. 65
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1610 views