สคล. – ศวส.  ห่วงนโยบายปิดผับตี 4 เสี่ยงอุบัติเหตุ-ทะเลาะวิวาทเพิ่ม 10 เท่า ขอรัฐทบทวนผลกระทบรอบด้าน เสนอแนวทางป้องกัน ขยายเวลาตั้งด่านตรวจเที่ยงคืนถึงเช้า แนะผู้ประกอบการ จำกัดเวลาซื้อ-ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วางระบบบริการรถรับ-ส่งกลับบ้าน   

จากกรณีที่มีแนวคิดผลักดันนโยบายขยายเวลาปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 จากเดิมที่ปิดตี 2 นำร่องพื้นที่เศรษฐกิจ จ.ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย เมืองพัทยา และกรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว หลังภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 พ.ย. นี้ 

นายธีระ  วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล) กล่าวว่า อีก 1 เดือนข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่ครอบครัว หรือเพื่อนๆ จะเฉลิมฉลองด้วยเสียงดนตรี ควบคู่การกินดื่ม เพื่อสร้างความสุขร่วมกัน แต่จากนโยบายขยายเวลาปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 นั้น เครือข่ายสนับสนุนคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เห็นตรงกันว่าไม่ควรขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง

เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จากการ “ดื่มแล้วขับ” และอาจทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ หรือนักดื่มปัจจุบัน มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พบว่าปริมาณการดื่มของนักดื่มไทย อยู่ที่ 8 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อหัวต่อปี หรือ เทียบเท่าแสงโสม 700 CC จำนวนเกือบ 29 ขวด หากไม่ควบคุมเวลาดื่ม อาจส่งผลกระทบทางสังคมในอนาคต ทั้งอุบัติเหตุ และเพิ่มค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุข จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs   

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงจากการขยายเวลาปิดผับจากตี 2 เป็น ตี 4 คือ การเพิ่มอัตราบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปัจจุบันพบว่า ไทยติดอันดับโลก ปัจจัยหนึ่งมาจากการดื่มแล้วขับ ที่เป็นตัวเร่งให้เพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะปริมาณมากน้อยแค่ไหน จะเมาหรือไม่เมา เมื่อดื่มเข้าไปแล้ว ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นมากกว่าการไม่ดื่ม ประมาณ 10 – 20 เท่า เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อ สมองของร่างกาย” นายธีระ กล่าว

 

ผศ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาระบาดวิทยา และนักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ กล่าวว่า แนวคิดขยายเวลาปิดผับตี 4 ต้องประเมินผลดีผลเสียรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากการดื่มแล้วขับ และหากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนโยบายนี้ เสนอให้เพิ่มเวลาการตั้งด่านตรวจเพิ่มขึ้น เพราะข้อมูลวิชาการชี้ว่ายิ่งมีด่านตรวจมากและต่อเนื่องเท่าใด อัตราการเกิดอุบัติเหตุก็น้อยลงเท่านั้น

ดังนั้นจึงอาจต้องเพิ่มการตั้งด่านตรวจจากเดิมที่กำหนดไว้ 10 ชั่วโมง/สัปดาห์ ให้ขยายเวลาให้เหมาะสมกับเวลาปิดผับไปจนสว่าง รวมถึงหามาตรการอื่นที่ช่วยลดความเสี่ยง เช่น จัดระบบสนับสนุน Designated Driver หรือ DD (ให้คนในกลุ่มที่ไปเที่ยวด้วยกันหนึ่งคนไม่ดื่มแอลกอฮอล์และขับรถพาเพื่อนกลับบ้าน คล้ายกับโมเดลของธุรกิจ “ยูดริงค์ ไอไดรฟ์” (U Drink I Drive)) หรือผู้ประกอบการอาจพิจารณามาตรการอื่นเพิ่มเติม เช่น ให้มีบริการตรวจแอลกอฮอล์ก่อนออกจากสถานบันเทิง

หากพบใครที่มึนเมา ควบคุมตนเองไม่ได้ และไม่มี designated driver ก็อาจจัดให้มีบริการเรียกรถรับ-ส่งกลับบ้าน นอกเหนือจากประเด็นเรื่องอุบัติเหตุแล้ว ยังมีข้อกังวลว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับเหตุความรุนแรง เนื่องจากผลการวิจัยในครัวเรือนไทย ชี้ว่าครัวเรือนที่มีคนดื่มหนัก 2 คนขึ้นไปร้อยละ 9.7 เคยมีเหตุใช้ความรุนแรงในรอบปี เทียบกับครัวเรือนแค่ร้อยละ 0.7 ที่มีคนดื่มแค่คนเดียวและไม่ดื่มหนัก หรืออนึ่งคือการใช้ความรุนแรงต่างกันเกิน 10 เท่า

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุทะเลาะวิวาทในสถานบริการก็อาจเพิ่มขึ้นในลักษณะเดียวกันเมื่อขยายเวลาเปิดผับจนถึงตี 4 และไม่มีการชะลอการดื่มหนัก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจพิจารณาลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาดังกล่าวโดยจัดมาตรการทุเลาปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ (เช่น ตั้งกฏให้สั่งแอลกอฮอล์ได้ไม่เกินเที่ยงคืน ตามเวลาที่อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามปกติ) หรืออบรมให้พนักงานในร้านดูแลและลดความเสี่ยงหากพบลูกค้าที่อยู่ในอาการมึนเมา ควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นต้น

“ด่านตรวจจะช่วยรักษาชีวิตคนได้เยอะ การขยายเวลาปิดผับในบางพื้นที่ ถ้าไม่ได้กวดขัน เข้มงวดอาจเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิต บาดเจ็บ ประมาณ 20 รายต่อวัน ถ้าเราตั้งด่านตรวจคุมเข้มคนดื่มแล้วขับ ตั้งแต่เที่ยงคืน ถึงตอนเช้า เชื่อว่าเราจะจับคนดื่มแล้วขับได้มากถึง 30 - 50% ลดผลกระทบทางสังคมได้ 10 รายต่อวัน เท่าที่ดูสถานการณ์ในอดีตทั้งหมด จะเห็นว่าการตั้งด่านตรวจ และขยายเวลาด่านตรวจ จะช่วยลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตได้” ผศ.ดร.วิทย์ กล่าว