สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 “กรุงเทพฯ เมืองแห่งสุขภาวะ ปลอดภัย เศรษฐกิจดี...สร้างได้!” สร้างการมีส่วนร่วมของคนเมือง สานพลังการขับเคลื่อนสู่สุขภาพดีของทุกคน
(25 พ.ย. 65) สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2565 ภายใต้หัวข้อ “กรุงเทพฯ เมืองแห่งสุขภาวะ ปลอดภัย เศรษฐกิจดี...สร้างได้!” จัดขึ้น ณ ห้องประชุม Miracle Grand Ballroom A - B ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ โดยมี รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษ
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพเป็นกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 40 กำหนดให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ โดยเปิดเป็นพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนในสังคม ทุกกลุ่มวัย ทุกเพศภาวะ ได้เข้ามามีส่วนร่วม ตามแนวทางประชาธิปไตย สู่การสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน ร่วมสะท้อนปัญหา ร่วมกำหนดเป้าหมายและทิศทาง ร่วมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย สานพลังการขับเคลื่อน หนุนเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพหรือความมีสุขภาพดีของประชาชน ทั้งยังติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ ตามเป้าหมาย ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย นับเป็นกระบวนการสร้างสังคมสุขภาวะในมิติใหม่
การประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ ได้กำหนดกรอบการจัดงานภายใต้แนวคิด “กรุงเทพฯ เมืองแห่งสุขภาวะ ปลอดภัย เศรษฐกิจดี…สร้างได้!”ด้วยตระหนักว่ากรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีการขยายตัว และเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้แนวทาง การพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อน นำมาซึ่งความท้าทายต่อการพัฒนาสุขภาวะในหลายมิติ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ภาคีทุกภาคส่วน และพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ควรรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ ผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งด้านบวกและด้านลบ และร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นนครแห่งสุขภาวะของทุกคน
ในการประชุมได้กำหนดระเบียบวาระ จำนวน 2 เรื่อง วาระที่ 1 คือ เรื่อง “พื้นที่เศรษฐกิจ ปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย” ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาชีพ พื้นที่ทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การยอมรับความหลากหลาย และกระบวนการมีส่วนร่วม โดยมุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มคนทำงานเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ ผู้ทำการผลิตที่บ้าน หาบเร่แผงลอย และผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ เนื่องด้วยคนกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญที่เกื้อหนุนคนในเมืองให้มีงานทำ มีความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เศรษฐกิจดำเนินต่อได้ แต่ในทางกลับกันการทำงานของกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ประกอบอาชีพ ความปลอดภัย และการมีส่วนร่วมร่วมในการตัดสินใจ และวาระที่ 2 เรื่อง “สุขภาพดีทุกช่วงวัยด้วยระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุณค่า” มีที่มาจากความท้าทายของปัญหาสุขภาพในสังคมเมือง ที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งหน้าทำมาหากิน ขาดการออกกำลังกาย รวมถึงปัญหาทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนการขาดความรู้ความเข้าใจการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะภาคีร่วมจัด กล่าวเสริมว่า สำหรับระเบียบวาระทั้ง 2 เรื่อง เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ตั้งแต่การระดมความเห็นหรือข้อเสนอที่ได้มาจากการเสนอประเด็นของ 62 เครือข่าย หลังจากนั้นภาคีเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มาร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ 4 ครั้ง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม - กันยายน 2565 เพื่อให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ จนรวบรวมได้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยมีการออกแบบแนวทางการขับเคลื่อนมติ ทั้งขั้นตอนกระบวนการ ภาคีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผลผลิตหรือตัวชี้วัด เพื่อผลักดันให้ข้อเสนอเชิงนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการสร้างสังคมสุขภาวะของคนกรุงเทพมหานคร
ตลอดทั้งวันของสมัชชาสุขภาพ กทม. ในครั้งนี้มีกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย การรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครครั้งที่ผ่านมา (ครั้งที่ 1 – 2) การประชุมพิจารณาระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 ต่อด้วยเวทีสาธารณะ “การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ…คนจนเมือง” การประกาศเจตนารมณ์ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” และไฮไลต์สำคัญ คือ พิธีประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ 10 หน่วยงาน ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนากลไก “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง “เสริมสร้างกลไกภาคประชาสังคมเข้มแข็งผ่านกองทุนสุขภาพกรุงเทพมหานคร” และในช่วงสุดท้ายเป็นการรับรองมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3
โดยบุคคลสำคัญที่มาร่วมงาน อาทิ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.ดร.เภสัชกรหญิง จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน
สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 ได้มีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก “กรุงเทพมหานคร” และเพจ “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมและแสดงความคิดเห็นอีกด้วย
--------------
- 203 views