ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติด ป้องกันปัญหาความรุนแรงจากผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง ให้ได้รับการดูแลอย่างเข้มข้น นำส่งอย่างปลอดภัยและติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องในชุมชนแบบไร้รอยต่อ เพื่อลดความรุนแรงหรือภาวะอันตรายจากผู้ป่วยจิตเวช เดินหน้าจัดระบบบริการจิตเวชฉุกเฉินรองรับในสถานบริการทุกระดับ
วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2565) ที่โรงแรมไมด้า แกรนด์ ทวารวดี นครปฐม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติด เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรง (SMI-V Care) โดยมีแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลจิตเวช และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน 380 คน
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติด เพื่อให้สามารถป้องกันการเกิดพฤติกรรมรุนแรง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 25 ของผู้ก่อความรุนแรง มีปัญหาสุขภาพจิต จิตเวช หรือยาเสพติด, ร้อยละ 38 มาจากผู้ที่ดื่มสุรา และเกิดเหตุในชุมชนมากกว่าในบ้าน ทำให้มีประชาชนเสี่ยงหรือสัมผัสความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 พบรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการความรุนแรงสูงสุด ในเขตสุขภาพที่ 1, 5, 7, 8 และ 11 ตามลำดับ แม้ส่วนใหญ่ผู้ก่อความรุนแรงไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเวช แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิต จิตเวชฉุกเฉิน และยาเสพติด เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิต จิตเวชฉุกเฉิน และยาเสพติด ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงจากผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (Severe Mental Illness – High Risk to Violence : SMI-V) ให้ได้รับการดูแลอย่างเข้มข้นในโรงพยาบาล นำส่งอย่างปลอดภัยด้วยระบบบริการจิตเวชฉุกเฉิน และติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องในชุมชนแบบไร้รอยต่อ โดยสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข เพื่อลดความรุนแรงหรือภาวะอันตรายจากผู้ป่วยจิตเวช
ด้านแพทย์หญิงอัมพร กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิต จิตเวชฉุกเฉิน และยาเสพติด จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2565 เพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 รวมถึงจัดทำแผนและแนวทางการจัดระบบบริการจิตเวชฉุกเฉินในสถานบริการทุกระดับ พร้อมทั้งเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และเปิดกลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติด ในโรงพยาบาลชุมชน
- 692 views