รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 (แผน 5 ปี)  ตั้งเป้าลดอัตราป่วยจากเชื้อดื้อยาลง 10% มีระบบตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาและการตกค้างในอาหารและสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาด้วยแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว

วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ประชุมร่วมกับกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลากหลายภาคส่วน

นายอนุทิน กล่าวว่า จากการประเมินการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR-JEE) ขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ระบบการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทยมีสมรรถนะที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก  โดยมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มจาก 3.0 เป็น 4.2 จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งบรรลุเป้าประสงค์ที่ 5 ของแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2565 นอกจากนี้ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนดังกล่าวประสบความสำเร็จในการลดปริมาณการบริโภคยาต้านจุลชีพที่ใช้ในมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาต้านแบคทีเรีย ที่ลดลงถึงร้อยละ 24 และลดการบริโภคยาต้านจุลชีพในสัตว์ลงถึงร้อยละ 36 ซึ่งบรรลุเป้าประสงค์ที่ 2 และ 3 ซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 20 และ 30 ตามลำดับ สำหรับสถานการณ์เชื้อดื้อยาพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่ลดลง ซึ่งสถานการณ์นี้การแก้ปัญหาในโรงพยาบาลอย่างเดียวคงไม่สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันกับทุกภาคส่วน 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ 2566-2570 โดยยังคง 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1. การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแบบบูรณาการ 2.การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบกำกับและติดตามยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์และสัตว์ที่ครอบคลุมทุกระดับเพื่อเป็นข้อมูลสถานการณ์หลักของประเทศ 3.การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในมนุษย์ เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 4. การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ 5.การส่งเสริมความรอบรู้ด้านเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและความตระหนักการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน และ 6. การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน

“การดำเนินงานทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถลดอัตราการป่วยจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในมนุษย์ลง 10%, ลดความเสี่ยงการดื้อยาต้านจุลชีพในอาหารและสิ่งแวดล้อม โดยมีระบบตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและการตกค้างในอาหารและในสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล, ลดการบริโภคยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ลง 30% และสำหรับสัตว์ลง 50% เมื่อเทียบกับปี 2560, ประชาชนไม่น้อยกว่า 30% มีความรอบรู้ด้านเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพ และระบบการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทยมีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลไม่ต่ำกว่าระดับ 4” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังรับทราบถึงการที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมการประชุม Global High-Level Ministerial Conference on Antimicrobial Resistance (AMR) ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงมัสกัต รัฐสุลต่านโอมาน ซึ่งข้อสรุปจากการประชุมนี้จะถูกนำไปหารือต่อในเวทีการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ในปี 2567

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org