กลุ่ม Nurses Connect เผยสัญญาณดี หลังผู้บริหาร สธ. หารือปรับค่าตอบแทน พร้อมทดลองลดภาระงานพยาบาลไม่เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในบางพื้นที่ จากทุกวันที่ 80- 100 ชม./ ด้านภาคีพยาบาลเสนอปรับค่าโอทีต้อง 1,000 บาทต่อเวร ส่วนค่าเวรบ่ายดึกขั้นต่ำเวรละ 500 บาท จากปัจจุบัน 240 บ. เท่านั้น ขณะที่บุคลากรเตรียมเปิดวงถกและถามความจริงคนทำงานระบบสาธารณสุข 26 พ.ย.นี้
ความคืบหน้าตั้งแต่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรียกประชุมสภาวิชาชีพต่างๆ เพื่อร่วมหาทางออกในการแก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข และพัฒนางานสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้มีคณะติดตามผลการทำงานของแต่ละวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการประชุมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อแก้ปัญหาภาระงานบุคลากรสาธารณสุข และล่าสุดสภาการพยาบาลมีข้อเสนอปรับค่าตอบแทนต่างๆนั้น
เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2565 น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ พยาบาลวิชาชีพ กลุ่ม Nurses Connect ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว Hfocus ว่า ต้องขอบคุณทางกระทรวงสาธารณสุข กองการพยาบาล และสภาการพยาบาลที่ร่วมขับเคลื่อนเห็นความสำคัญของพยาบาลที่ปฏิบัติงานทุกคน ล่าสุดทราบว่าขณะนี้มีการทำหนังสือยื่นเพื่อขอปรับเงินเดือน ค่าตอบแทนของวิชาชีพพยาบาล โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เรื่องภาระงานนั้นเห็นว่ากำลังทำตัวอย่างในการทดลองชั่วโมงการทำงานให้ลดลงไม่เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากทุกวันนี้พยาบาลทำงานควงเวรเฉลี่ย 80-100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นกับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง
“การควงเวรลักษณะนี้ ส่งผลกระทบต่อกายและใจมาก ทั้งปัญหาสุขภาพกาย และจิต บ้านก็แทบไม่ได้กลับ เนื่องจากต้องอยู่เวรต่อเนื่อง ขณะที่ค่าตอบแทนพยาบาลยังคงใช้มานาน ไม่มีการปรับเพิ่ม จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในภาพรวม ซึ่งขณะนี้ทุกคนต่างรอข่าวดีจากผู้บริหารกระทรวงฯ ในการเดินหน้าแก้ปัญหาตรงนี้” ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพ กลุ่ม Nurses Connect กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่ม Nurses Connect เสนอปรับเพิ่มค่าตอบแทนเป็นเท่าไหร่ จึงจะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน น.ส.สุวิมล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเคยสำรวจของพวกเรากันเอง ส่วนใหญ่มองว่าค่าตอบแทน อย่างค่าเวรโอที(OT) ควรได้เฉลี่ยมากกว่า 1,000 บาทต่อเวร ซึ่งเวรหนึ่งจะทำงาน 8 ชั่วโมง ส่วนค่าเวรบ่าย- ดึกก็ควรได้รับมากกว่า 500 บาทต่อเวร (8ชั่วโมง) จากปัจจุบันได้เพียงเวรละ 240 บาทเท่านั้น
“ที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดมาตรฐานตายตัวว่า ค่าตอบแทนต้องได้รับเท่าไหร่อย่างไร เพราะกฎหมายระบุว่าให้จ่ายตามสภาพคล่องของโรงพยาบาล ซึ่งแต่ละแห่งได้ไม่เท่ากัน บางที่ได้ 600 บาท 700 บาท หรือ800 บาทก็ไม่เท่ากัน ซึ่งตรงนี้ไม่เป็นธรรมกับคนอื่นๆที่ทำงานเหมือนกันแต่ได้เงินน้อยกว่า แต่กลับต้องขึ้นกับรพ.ที่มีเงินบำรุงเพียงพอ ดังนั้น จึงขอให้ปรับขึ้นอย่างเป็นธรรม เช่น ค่าโอทีอยู่ที่ 1,000 บาทต่อเวรเท่ากันทั่วประเทศ” น.ส.สุวิมล กล่าว
น.ส.สุวิมล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เงินเดือนของพยาบาล ถือว่าน้อยมาก เพราะบางแห่งจ้างพยาบาลในตำแหน่งลูกจ้างรายวัน ทำให้อัตราสตาร์ทของพยาบาลต่ำมากเพียง 12,000 บาทนิดๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล เพราะใช้เงินบำรุงของรพ.ในการจ้าง จริงๆควรปรับฐานเงินเดือนพยาบาลจบใหม่ให้เท่ากันกับพยาบาลที่บรรจุข้าราชการตั้งใหม่ หรือควรสตาร์ทเงินเดือนเท่ากับคนจบปริญญาตรีประมาณ 15,000 บาท
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ยังมีค่าตอบแทนอื่นๆอีกหรือไม่ น.ส.สุวิมล กล่าวว่า มีค่าใบประกอบวิชาชีพ แต่ค่อนข้างน้อยมากอยู่ที่ 1,500 บาทเท่านั้น ส่วนเงินค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือ Pay for Performance : P4P จะได้แต่ละแห่งไม่เท่ากัน เพราะคำนวณจากภาระงานของแต่ละแผนกในทุกเดือนเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์เท่านั้น ส่วนโรงพยาบาลชุมชนจะได้เป็นเงินเพิ่มเติมที่เรียกว่า เงินค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขฉบับที่ 11 หรือ ฉ.11
“ เราคาดหวังว่า ทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจะเห็นใจ และพิจารณาปรับเพิ่มให้พยาบาลทั้งหมด ที่ผ่านมาพวกเราทำงานหนักมาก มีความเครียด เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานจริงๆ อย่างกองการพยาบาลเคยสำรวจก็พบว่า พยาบาลมีภาวะ Burn Out จริงๆ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขยังเคยเผยผลสำรวจ happy money พบเพียง 52% ซึ่งถือว่าน้อย เพราะไม่ได้หมายความว่าบุคลากรพึงพอใจหรือมีความสุข โดยผลการสำรวจบุคลากรทุกวิชาชีพ แต่พยาบาลตอบแบบสอบถามมากที่สุด ขณะที่งานวิจัยต่างประเทศ ระบุว่าคนทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีผลในการตัดสินใจลาออกมากกว่าคนทำงานน้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และปัจจัยค่าตอบแทนมีผลต่อการตัดสินใจลาออก” น.ส.สุวิมล กล่าว
น.ส.สุวิมล กล่าวอีกว่า ขณะนี้ถือว่ามีสัญญาณที่ดีเพราะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ และมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ อย่างกองการพยาบาล สภาการพยาบาลก็ให้ข้อมูลกับทางพวกตนดีมาก จึงถือว่าเรายังคาดหวังได้ และคิดว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กลุ่ม Nurses Connect และภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดงานแลกเปลี่ยนพูดคุยเฉพาะบุคลากรที่ทำงานในสถานพยาบาลเท่านั้น ในวันเสาร์ที่ 26 พ.ย.2565 เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป โดยจะเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ซักถามความจริง ความฝันของคนทำงานในระบบสาธารณสุขไทย
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
- สธ.แก้ปัญหาชั่วโมงการทำงาน “หมอ-พยาบาล” เผยโรดแมปแผน 3 ระยะ เบื้องต้นมอบผู้ตรวจราชการฯดำเนินการ
- สภาการพยาบาล ชง สธ. ปรับค่าตอบแทนวิชาชีพ 240 บาทต่อเวร หลังใช้นานกว่า 10 ปี
- ปลัดสธ. ร่วม 64 ชมรม สมาคม วิชาชีพต่างๆ แถลงการณ์ 7 ข้อ แก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 3297 views