‘อนุทิน’ นำทีม สธ. สปสช. และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักประกันสุขภาพญี่ปุ่น เพิ่มศักยภาพและองค์ความรู้การจัดการการเงินหลักประกันสุขภาพและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระดับท้องถิ่นเพื่อปรับใช้กับบริบทไทย
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศญี่ปุ่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ดูงานระบบบริหารหลักประกันสุขภาพของประเทศญี่ปุ่น การจัดการด้านการเงินการคลังอย่างยั่งยืน และการจัดระบบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ณ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น
Dr.FUKUSHIMA Yasumasa, Vice-Minister for Health, Chief Medical and Global Health Officer (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าฝ่ายการแพทย์และสาธารณสุขโลก) กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับการศึกษาดูงานครั้งนี้ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและไทย ซึ่งการจัดโปรแกรมการดูงานครั้งนี้ ญี่ปุ่นจัดตามความต้องการของไทยที่ต้องการมาเรียนรู้เรื่องระบบการเงินการคลังหลักประกันสุขภาพ การจัดทำ Fee Schedule หรือการจ่ายตามรายการที่ญี่ปุ่นได้มีการปรับราคาทุกๆ 2 ปี การตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ และการจัดการด้านการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยร่วมมือกับท้องถิ่น
Dr.FUKUSHIMA กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังจัดให้ไปลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานที่ National Graduate Institute for Policy Studies และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่น เพื่อให้เห็นว่าญี่ปุ่นจัดระบบสาธารณสุขระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่นอย่างไรให้เกิดความมั่นคงและตอบสนองต่อบริบทของคนในท้องถิ่น ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นเคยเชิญรองนายกฯอนุทิน ดูงานหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2560 ซึ่งครั้งนั้นไทยได้นำบทเรียนที่ได้ไปปรับใช้ในการออกแบบ Fee Schedule ของประเทศไทยเอง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าญี่ปุ่นและไทยจะร่วมมือกันเช่นนี้ต่อไปเพื่อการพัฒนาและเรียนรู้หลักประกันสุขภาพต่อไป
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นและไจก้าที่ได้เชิญประเทศไทยมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความขับเคลื่อนพลวัตรสุขภาพโลกและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระยะที่ 2 หรือ The Partnership Project for Global Health and Universal Health Coverage Phase 2 (GLO+UHC2) GLO+UHC เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จกับการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพมายาวนาว และไทยสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากตรงนี้ได้เพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทยในขณะนี้ หลังจากที่ทั้งโลกเพิ่งผ่านการรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 มา
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ไทยได้จากญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับใช้เพื่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของไทยต่อไป โดยเฉพาะการบริหารจัดการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับท้องถิ่น เพิ่มองค์ความรู้ด้านการออกแบบงบประมาณด้านสุขภาพ การจัดทำระบบข้อมูล Big Data การใช้เทคโนโลยี และพัฒนากระบวนการติดตามผลลัพธ์ เป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อการทำงานผลักดันเชิงนโยบายในอนาคต ทั้งยังส่งเสริมภาพลักษณ์และบทบาทของไทยและญี่ปุ่นในการร่วมผลักดันประเด็นทางสุขภาพบนเวทีโลกต่อไปอีกด้วย
- 169 views