กรมควบคุมโรคร่วม IHPP เผยผลศึกษาค่า  Excess death    อัตราการเสียชีวิตส่วนเกินช่วงก่อนและการระบาดโควิด19 พบสูงสุดปี 64 อยู่ที่ 4.2%  หรือตายเพิ่มขึ้นจากช่วงไม่มีการระบาดอยู่ที่ 22,490 ราย  เป็นเพศชาย 18,000 กว่าราย เพศหญิงราว 4,000 ราย   โดยเขตสุขภาพที่ 13  กรุงเทพมหานครมากสุด ส่วนเขตสุขภาพที่ 1 ค่าเอ็กซ์เซสเดธ น้อยกว่าปกติ ขณะที่ความครอบคลุมของวัคซีนสัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการตายส่วนเกินจากโควิด

 

เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2565 ที่กรมควบคุมโรค(คร.)  นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวในงานเสวนาประเด็นเรื่อง การศึกษาอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน(Excess death)  ว่า  2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดการระบาดใหญ่ของโควิดไปทั่วโลก ซึ่งการระบาดทำให้เกิดการสูญเสีย เจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก หรือข้อมูลวิชาการทั่วโลกพบว่า ตัวเลขเสียชีวิต 5-6 ล้านคนน้อยกว่าความเป็นจริง จึงมีการรวบรวมและคาดการณ์ว่า การเสียชีวิตจากโควิดอย่างน้อยประมาณ 23-24 ล้านคน  

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า เมื่อนำข้อมูลต่างๆ มาเปรียบเทียบก่อนระบาด และช่วงระบาดของโรค เมื่อเปรียบเทียบจะได้ข้อมูลการเสียชีวิตส่วนเกิน เพื่อหาว่า ปกติที่ไม่มีการระบาดมีการเสียชีวิตเท่าไหร่ และเมื่อมีการระบาด การเสียชีวิตเพิ่มมากแค่ไหน ซึ่งในสหรัฐอเมริกา พบการเสียชีวิตส่วนเกินเพิ่มขึ้น 85.2 ต่อประชากรแสนคนในปี 2020 ส่วนสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 87.4 ต่อแสนประชากร เบลเยี่ยมเพิ่มขึ้น 62.5 ต่อแสนประชากร เป็นต้น ทั้งนี้  ช่วงโควิด ส่วนหนึ่งผู้ป่วยเสียชีวิตจากโควิดโดยตรง แต่อีกส่วนอาจมาจากโรคอื่นๆ

ด้าน ทพญ.ดร.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า  สำหรับการศึกษาอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินของประชากรไทย หรือ เอ็กซ์เซสเดธ  (Excess death)  ช่วงการระบาดโควิดระหว่างปี 2563-2564 ที่ผ่านมา โดยเทียบกับสถานการณ์ปกติ 5 ปีย้อนหลัง (พ.ศ.2558-2562)  เป็นการคำนวณคิดจากการเสียชีวิตเกิดขึ้นจริงในช่วงโควิด และเทียบกับการเสียชีวิตที่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีการระบาดของโควิด ซึ่งใช้โมเดลเดียวกันกับองค์การอนามัยโลก  

ทพญ.ดร.กนิษฐา  กล่าวว่า ภาพรวมการเสียชีวิตของไทยระหว่างปี 2563-2564 โดยโควิดเสียชีวิตมากในปี 2564  และส่วนใหญ่เสียชีวิตในโรงพยาบาล สำหรับผลการศึกษาการตายส่วนเกิน หรือค่า Excess death จะเพิ่มขึ้นในการระบาดเวฟที่ 3 และเป็นการเสียชีวิตจากโควิดเป็นส่วนใหญ่ โดยค่า Excess death เพศชายจะเสียชีวิตในปี 2564  เพิ่มขึ้น 18,302 ราย หรือ 6.2%  ที่เพิ่มขึ้นจากการตายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากไม่มีสถานการณ์ระบาด  ส่วนค่า Excess death เพศหญิงจะต่ำกว่าเพศชายอยู่ที่ 4,000 ราย หรือ 1.7%  

ทพญ.ดร.กนิษฐา กล่าวอีกว่า  ค่า Excess death  ทั้งเพศชายและเพศหญิง จะเพิ่มในช่วงสายพันธุ์เดลตา และกลุ่มอายุที่มีค่าดังกล่าวสูงในเพศชาย คือ  กลุ่มอายุ 50-64 ปี  รองลงมากลุ่มอายุ  65-74 ปี ส่วนกลุ่มเด็ก 0-14 ปี ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ปกติ ส่วนเพศหญิงพบว่า กลุ่มอายุ 15-49 ปีจะมีค่า Excess death สูง รองลงมาคือ อายุ 50-64 ปี  ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุในเพศหญิงไม่มากเท่า  และการเสียชีวิตในรพ. ส่วนใหญ่มาจากโรคโควิด ส่วนการเสียชีวิตที่บ้านจะเห็นว่า เพศชายมีค่า Excess death สูงใกล้เคียงกับรพ.  ส่วนเพศหญิงเสียชีวิตที่บ้านต่ำกว่าที่รพ.

“ ค่า Excess death ของทั้งเพศชายและเพศหญิงภาพรวมของประเทศ ไม่พบการเสียชีวิตส่วนเกินในปี 2563 แต่พบว่า การเสียชีวิตส่วนเกินในปี 2564 อยู่ที่ 4.2%  หรือตายเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ไม่มีการระบาดอยู่ที่ 22,490 ราย โดยเป็นการตายส่วนเกินของเพศชาย 18,000 กว่าราย เพศหญิงประมาณ 4,000 ราย นอกจากนี้ ข้อมูลยังพบว่า เขตสุขภาพที่พบการตายส่วนเกินมากที่สุด คือ เขตสุขภาพที่ 13 หรือกรุงเทพมหานคร   โดยเขตสุขภาพที่ 1 มีการตายส่วนเกินน้อยกว่าปกติ คือ น้อยกว่า 12% ” ทพญ.ดร.กนิษฐา  กล่าว

ทพญ.ดร.กนิษฐา  กล่าวอีกว่า  สำหรับผลการศึกษาเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร พบว่า ไทยมีการตายส่วนเกินพีคในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.ปี 2564 จากนั้นค่อยๆลดลง โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเทียบการตายส่วนเกินของไทยไม่ถึง 50 รายต่อแสนประชากร ซึ่งมีค่าน้อยกว่าสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอินเดีย และต่ำกว่าฝรั่งเศสเล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

นพ.สมเกียรติ กล่าวสรุปเพิ่มเติม ว่า  ประเทศไทยได้ทำการศึกษาอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน 2 ปี (พ.ศ.2563-2564)  โดยปีแรกตัวเลขน้อยกว่าคาดการณ์ เมื่อมีการระบาดโควิดแรกๆ เรามีมาตรการต่างๆ ออกมาก็ช่วยลดตัวเลขนี้ แต่ปี 2564 มีการระบาดเพิ่มขึ้น บางส่วนเสียชีวิตจากโควิด และการฉีดวัคซีนอาจไม่มาก ทำให้ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งกลุ่มที่มีการเสียชีวิตส่วนเกินมาก คือ วัยทำงานตอนปลาย ส่วนกลุ่มเด็กไม่มีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปกติ สรุปคือ  การศึกษาค่าการเสียชีวิตส่วนเกินของไทยในช่วงโควิด  ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาอย่างอเมริกา สหราชอาณาจักร และยุโรป

ขณะที่ พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค รายงานข้อมูลส่วนหนึ่งในงานเสวนาเกี่ยวกับการครอบคลุมของวัคซีนโควิดสัมพันธ์กับอัตราการตายส่วนเกินมากน้อยแค่ไหน ว่า จากข้อมูล อิสเทิร์นยุโรป  สหรัฐและแคนาดา และประเทศอื่นๆ รวมแล้ว 50 กว่าประเทศ โดยเก็บข้อมูลการครอบคลุมวัคซีนของประเทศต่างๆ การบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ  พบว่า อัตราการตายส่วนเกินแปรผกผันกับความครอบคลุมของวัคซีนและความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมาย และอัตราการตายส่วนเกินจะเพิ่มขึ้น 4.1 ต่อแสนประชากร เมื่อความครอบคลุมของวัคซีนลดลง 1%  

 “สำหรับเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนโควิดจะพบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยได้ แต่เมื่อระยะเวลาหนึ่งจะลดลง แต่ก็ลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับการฉีด 2 เข็ม ดังนั้น ความครอบคลุมของวัคซีนสัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการตายส่วนเกินจากโควิด และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่พบในไทยมีประวัติไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ที่สำคัญไทยมีระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด”  พญ.วรรณา กล่าว

 

ติดตามรายละเอียดการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่

https://fb.watch/gJGbMiGin1/

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org