ปลัด สธ.ชี้นโยบายข้อมูลสุขภาพดิจิทัลประชาชน เพื่อประโยชน์ยืนยันตัวตนผู้ป่วย ใช้แอปฯ “หมอพร้อม” ง่ายต่อการบันทึกข้อมูล แม้ช่วงเปลี่ยนผ่านอาจไม่เต็ม 100% แต่ส่วนใหญ่พร้อมเดินหน้าพัฒนาให้ดีขึ้น ไม่ใช่ให้ยกเลิก  ยืนยัน “หมอพร้อม” ของรัฐ ไม่ใช่เอกชน หลังชมรมแพทย์ชนบทโพสต์ติงนโยบาย มีผลต่อภาระงาน “ปลัดโอภาส” จ่อถาม สสจ.สงขลา พื้นที่มีปัญหาส่วนใด ได้ปฏิบัติตามนโยบายกระทรวงฯ หรือไม่

 

จากกรณีชมรมแพทย์ชนบทออกมาโพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กชมรมฯ กรณีกระทรวงสาธารณสุขออกกติกาใหม่ในการเก็บข้อมูลสุขภาพประชาชนกลุ่มเด็กเล็กทุกคน ผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน    ผู้รับวัคซีนบาดทะยัก ให้มีการยืนยันตัวตนในการเข้ารับบริการผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ซึ่งชมรมฯ ระบุว่า เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ให้บริการ ซึ่งปัญหาไม่ใช่อยู่ที่หลักการการต้องยืนยันตัวตน อันนี้โอเค ทุกคนยอมรับว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพิ่มงานไม่ว่า เพราะหลักการถูกต้อง แต่ปัญหาอยู่ที่ ทำไมต้องทำผ่านแอปฯ หมอพร้อม  เพราะแม้จะดูดี แต่ขั้นตอนมาก และเป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่ ขณะที่ชมรมแพทย์ชนบทยังระบุว่า สธ.ไปตกลงกับสปสช.ให้ใช้ระบบนี้กับการเบิกจ่าย ที่สำคัญยังระบุว่า หมอพร้อม ไม่ใช่ของรัฐ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์วงกว้าง จนไปถึงว่ามีการฟ้องศาลปกครองด้วยนั้น

 

เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า โดยหลักการการพัฒนาข้อมูลสุขภาพดิจิทัล เป็นนโยบายที่ดำเนินการมาตลอด ทั้งหมดเป็นแผนภาพรวมในการพัฒนาระบบข้อมูลดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” และยืนยันว่า เจ้าของคือ กระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมาใช้ได้ดีกับโควิด19 รวมทั้งแนวนโยบายให้ประชาชนมีข้อมูลสุขภาพส่วนตัว ซึ่งแอปฯ หมอพร้อม บันทึกได้หลายอย่าง ทั้งประวัติฉีดวัคซีน การตรวจ ATK นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนมีข้อมูลสุขภาพส่วนตัว และในอนาคตหากมีข้อมูลสุขภาพส่วนตัวของเรา ก็จะถือไปรักษาที่ไหนก็ได้ ตรงกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแนวทางระบบถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกประการ

“ปัญหาช่วงเปลี่ยนผ่านไม่ราบรื่น 100% แต่ภาพรวมไม่ได้เป็นประเด็นเชิงนโยบายอะไร อีกทั้ง หมอพร้อม ยังเป็นระบบในการยืนยันตัวตนว่า เป็นเจ้าของจริง เพราะตอนนี้เราต้องระมัดระวังเรื่องกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ  PDPA ไม่ให้ข้อมูลหลุดไปส่วนอื่นๆ ซึ่ง สปสช.เห็นประโยชน์ส่วนนี้ และได้นำเรื่องบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบเบิกจ่ายของเขา ซึ่งภาคปฏิบัติจะพร้อมหมด 100% ไม่ได้ แต่เท่าที่ตามดูส่วนใหญ่ 70-80% ไม่ได้เกิดความยากลำบาก เจ้าหน้าที่ระบุว่าง่ายกว่าเดิมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เวลาบันทึกอะไรต้องเขียนกระดาน บางที่ต้องจ้างคนบันทึกข้อมูล แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่บันทึกโดยไม่ต้องเขียนกระดาษ ความสะดวกมากขึ้นกว่าเดิม ”  ปลัด สธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนี้ต้องสอบถามไปยังพื้นที่ของผู้โพสต์เรื่องนี้หรือไม่ว่า ในจังหวัดมีปัญหาระบบส่วนใดเพื่อจะได้หาแนวทางแก้ไข นพ.โอภาส กล่าวว่า เดี๋ยวจะสอบถามไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) สงขลา ว่า ในพื้นที่มีปัญหามากหรือไม่ ได้ปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่อย่างไร แต่ขอยืนยันว่า ส่วนใหญ่เกิดผลดี ส่วนผู้อายุมาก คนไม่มีมือถือ ไม่ใช่ว่าไม่เข้าถึงบริการ เพราะระบบยืนยันตัวตนให้ผู้อื่นคีย์ข้อมูล หรือจดบันทึกกระดาษอีกทีก็ได้ ไม่ได้ตัดสิทธิ์อะไร

“เรื่องนี้เป็นนโยบายของกระทรวงฯ อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลดิจิทัลพูดกันมานาน อยากให้มีแอปฯ ที่ใช้ง่าย ซึ่งตอนนี้ใช้ง่าย หมอพร้อมก็ใช้ง่าย และในอนาคตจะใส่ข้อมูลอื่นๆเข้าไป ทั้งข้อมูลเจ็บป่วย เบาหวาน ความดัน เรื่องนี้เป็นเรื่องดี แต่อุปสรรคในบางคนอาจไม่ 100% แต่ก็ต้องปรับและให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่ยกเลิก และขอยืนยันว่า ระบบ “หมอพร้อม” เป็นของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้เอื้อเอกชน” ปลัดสธ.กล่าว

เมื่อถามว่าในต่างประเทศมีการดำเนินการระบบแบบนี้ใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาใช้ระบบดิจิทัลกันหมด  ขณะนี้หมดยุคเขียนกระดาษแล้ว วาทกรรมหมอหน้าจอต้องเลิกแล้ว ปัจจุบันบุคลากร หมอ ยุคใหม่ใช้คอมพิวเตอร์กันหมดแล้ว เราต้องไปข้างหน้า เพื่อให้ประเทศพัฒนายิ่งขึ้น

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัดสธ.ชี้ระบบสุขภาพดิจิทัล ไม่เพิ่มภาระบุคลากร เหตุแต่ละระบบความถี่คีย์ข้อมูลไม่เท่ากัน ยกเลิกไม่จำเป็นแล้ว 14 ระบบ)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org