สปสช. หนุน “ศูนย์ให้บริการบำบัดฟื้นฟูและลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด” ดูแลกลุ่มเปราะบางหลากหลายทางเพศ เข้าถึงบริการภายใต้สิทธิประโยชน์ “กองทุนบัตรทอง” ช่วยเข้าถึงการบำบัดฟื้นฟู ลดอันตรายจาการใช้ยาเสพติด ลดภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แพร่กระจายเชื้อ พร้อมระบุความร่วมมือโดยภาคประชาสังคมจัดบริการเชิงรุก เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล 

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้ง “ศูนย์ให้บริการบำบัดฟื้นฟูและลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง” โดยเปิดศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง (CBTx & HR : Community based treatment and Harm Reduction) และให้เป็นต้นแบบของการจัดระบบบริการที่ครอบคลุมทุกด้านและตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรภาคประชาสังคมมีผลงานโดดเด่นด้านการป้องกันเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เชิงรุกในชุมชน ดำเนินงานภายใต้ “คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง” โดย สปสช.ร่วมสนับสนุนบริการงบประมาณจาก “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือกองทุนบัตรทอง ได้แก่ บริการเจาะเลือดตรวจเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บริการยาต้านไวรัสเอชวี เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักอนามัยและสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ในด้านวิชาการ การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ และการจัดบริการ รวมทั้งได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ

สำหรับการจัดตั้ง “ศูนย์ให้บริการบำบัดฟื้นฟูและลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด” ในครั้งนี้ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย นับเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้ริเริ่มการจัดบริการเชิงรุกเพื่อผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงได้ยากและยังเป็นกลุ่มเปราะบางที่สังคมละเลย ได้เข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูฯ ทั้งยังมีความสะดวก เนื่องจากผู้รับการบำบัดฟื้นฯ สามารถเข้ารับบริการหลังเลิกงานหรือรับบริการผ่านระบบออนไลน์ได้ ทั้งยังให้บริการอุปกรณ์ที่ปลอดภัยเพื่อช่วยลดการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายเชื้อ (Harm reduction) ที่สำคัญผู้ให้บริการเองเป็นผู้ที่มีความเข้าใจ เป็นมิตร และเต็มใจบริการดูแลผู้ใช้สารเสพติดโดยไม่มีการตีตรา และหากผู้ใช้สารเสพติดรายใดมีความต้องการที่จะรับการบำบัดให้หายขาด ก็มีบริการส่งต่อสู่การบำบัดฟื้นฟูฯ โดยร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ที่เป็นหน่วยงานรองรับ

นพ.รัฐพล กล่าวว่า การจัดบริการเชิงรุกในรูปแบบนี้ โดยใช้ความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม พบว่า สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล ไม่เพียงแต่เพิ่มโอกาสทำให้ผู้ใช้สารเสพติดเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูและลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สู่ชุมชนได้ โดย สปสช. ยินดีให้การสนับสนุนภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง 30 บาทอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทยได้   

“การดูแลผู้ป่วยใช้สารเสพติดถือเป็นประเด็นท้าทาย คนทั่วไปมักมองว่าผู้ใช้สารเสพติดเป็นบุคคลอันตราย แต่เบื้องหลังการใช้สารเสพติดของแต่ละคนย่อมมีเหตุผลแตกต่างกันไป เราคงตัดสินไม่ได้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร นอกจากจะให้การสนับสนุนและคอยอยู่เคียงข้างเสมอ เมื่อใดที่คนเหล่านี้มีความพร้อมที่จะใช้ชีวิตปกติอย่างมีความสุขเช่นเดียวกับคนทุกคน ก็มีกลไกช่วยเหลือ เช่นการดำเนินงานของศูนย์ให้บริการบำบัดฟื้นฟูและลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดนี้ ทั้งนี้ สปสช.เป็นหน่วยงานหนึ่งหนึ่งที่มีนโยบายเพื่อร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการบำบัดฟื้นฟูและลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ที่ผ่านมาจึงได้บรรจุสิทธิประโยขน์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูและลดอัตรายจากการใช้ยาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง” นพ.รัฐพล ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช.กล่าว  

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330 กด 6 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand