รองเลขาธิการ สปสช.ย้ำผู้มีสิทธิบัตรทองที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญากับ 9 โรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ กทม.จนกลายเป็นสิทธิว่าง ขอให้รีบมาลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำแห่งใหม่โดยเร็ว ชี้แม้สิทธิว่างจะไปรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ แต่การมีหน่วยบริการประจำ สามารถเข้ารับบริการได้อย่างสะดวก
พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ขอเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญากับ 9 โรงพยาบาลเอกชนไปเมื่อเร็วๆนี้และกลายเป็นสิทธิว่าง ให้มาลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำแห่งใหม่ เพื่อประโยชน์ของตัวผู้มีสิทธิเองในการเข้ารับบริการสุขภาพได้อย่างสะดวก และมีหน่วยบริการประจำดูแลสุขภาพท่านให้อุ่นใจ
พญ.ลลิตยา กล่าวว่า สปสช. ได้เปิดให้ผู้มีสิทธิบัตรทองที่กลายเป็นสิทธิว่างจากกรณีการยกเลิกสัญญากับ 9 โรงพยาบาลเอกชน รวมประมาณ 2.3 แสนราย สามารถลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำแห่งใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยในช่วง 1 เดือนมานี้พบว่ามีผู้มาลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการ เพียงประมาณ 3 หมื่นราย จาก 2 แสนกว่ารายซึ่งส่วนมากคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เช่น เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ผู้มีสิทธิบัตรทองอีกประมาณ 2 แสนรายที่ยังไม่มาลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำนั้น ส่วนมากคือผู้ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ไม่เคยเข้ารับบริการหรือเข้ารับบริการน้อยมาก ประกอบกับแต่ละวันต้องใช้เวลาไปกับการประกอบอาชีพ จึงอาจยังไม่ทราบว่าตัวเองกลายเป็นสิทธิว่างแล้ว หรือทราบแล้วแต่เห็นว่างยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงไม่มาลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการแห่งใหม่
พญ.ลลิตยา กล่าวว่า แม้ว่าผู้มีสิทธิบัตรทองที่เป็นสิทธิว่างจะไม่ได้เสียสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลและสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ แต่การรับบริการในลักษณะนี้เหมาะกับกรณีที่มีเหตุจำเป็น เช่น เดินทางไปต่างพื้นที่แล้วเจ็บป่วยจำเป็นต้องรับการรักษา หรือยาหมดและต้องรับยาต่อเนื่อง ก็สามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ที่สะดวกในขณะนั้น แต่การมีหน่วยบริการประจำนั้นจะมีข้อดีมากกว่า เพราะ 1. สปสช. ให้เลือกหน่วยบริการประจำด้วยตัวเอง ทำให้ผู้มีสิทธิสามารถเลือกหน่วยบริการที่อยู่ใกล้บ้าน สะดวกในการเดินทางไปรับบริการ
และ 2. ในกรณีที่ป่วยเป็นโรคที่เกินกำลังที่หน่วยบริการปฐมภูมิจะรักษาได้ และจำเป็นต้องส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า การมีหน่วยบริการประจำจะทำให้มีโรงพยาบาลรับส่งต่อที่ชัดเจน สามารถไปรับบริการได้อย่างสะดวกตามระบบที่วางไว้ แต่หากไม่มีหน่วยบริการประจำ การไปรักษาในโรงพยาบาลรับส่งต่อจะมีความยุ่งยากมากกว่า
พญ.ลลิตยา กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้จึงขอเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เป็นสิทธิว่าง 2 แสนรายข้างต้น มาลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำแห่งใหม่โดยเร็ว ซึ่งขั้นตอนในการลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำก็ไม่ได้ยุ่งยาก สปสช.เตรียมช่องทางไว้ให้ถึง 4 ช่องทาง ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เพียงเสียเวลาเล็กน้อยไม่กี่นาทีก็ดำเนินการเสร็จแล้ว ดังนั้นขอให้มาลงทะเบียน อย่าชะล่าใจว่าสุขภาพยังแข็งแรง เพราะเมื่อถึงคราวจำเป็นขึ้นมา ท่านจะได้ใช้สิทธิในการรับบริการได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
สำหรับช่องทางการลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำนั้น ประกอบด้วย 1. แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ 2. ไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso เลือกเมนู เปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง และ 3. สายด่วน สปสช. โทร. 1330 กด 6 และ 4. ลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเองได้ที่ที่ทำการของ สปสช. ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบเครือข่ายหน่วยบริการที่สามารถเลือกลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ สปสช. http://mscup.nhso.go.th/mastercup/
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330 กด 6
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 3313 views