กรุงเทพมหานครลดภาระ รพ.นพรัตน์ มอบ รพ.ในสังกัดสำรองเตียงรองรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองส่งต่อจาก รพ.นพรัตน์ฯ ขณะที่ สปสช.ประสาน รพ.เอกชน 1 แห่งช่วยดูแลผู้ป่วย พร้อมเร่งประสาน รพ.เอกชนในพื้นที่เพิ่มเติม ระบุ รพ.ในพื้นที่ กทม. ฝั่งตะวันออกมีจำกัด เตรียมหารือ กทม. จัดระบบกระจายบริการปฐมภูมิ เพิ่มการเข้าถึงบริการ      

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาจากกรณีการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ และหน่วยบริการรับส่งต่อ โรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ที่ผ่านมา สปสช. ได้เร่งประสานความร่วมมือเพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีทั้งจากกรุงเทพมหานคร และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยบริการในภาคเอกชน ซึ่งในส่วนผู้ป่วยเร่งด่วนที่ต้องรักษาต่อเนื่องนั้น สปสช. ได้ดำเนินการจัดหาหน่วยบริการเพื่อรับส่งต่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้มีสิทธิบัตรทองในพื้นที่ซึ่งได้รบผลกระทบ สปสช. เปิดให้ประชาชนเลือกลงทะเบียนหน่วยบริการเอง โดยขณะนี้มีประชาชนที่ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการแล้ว 28,946 คน    

ทั้งนี้ ด้วยหน่วยบริการบางเขตพื้นที่ใน กทม. ที่มีจำกัด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งด้านตะวันออก ทำให้เกิดปัญหาการดูแลผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะ รพ.นพรัตน์ราชธานี ที่ผ่านมา สปสช.ได้เร่งประสานไปยังสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ให้ รพ.ในสังกัดกรุงเทพมหานคร 1 แห่ง สำรองเตียงเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.นพรัตน์ราชธานีแล้ว รวมทั้งได้ประสานกับ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในเขตพื้นที่ ซึ่งจะมาช่วยรองรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย โดยจะเป็นการส่งต่อผู้ป่วยมาจาก รพ.นพรัตน์ราชธานีโดยตรง นอกจากนี้ สปสช.ยังอยู่ระหว่างการประสานไปยัง รพ.เอกชนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงเพิ่มเติมให้เข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วย และในวันนี้ (1 พ.ย. 65) ทาง สปสช.ได้ประชุมหารือร่วมกับ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหานี้    

 

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผู้มีสิทธิบัตรทองในโซนกรุงเทพตะวันออกเข้าถึงบริการนั้น จำเป็นต้องดำเนินการภาพรวมทั้งหมด ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก ประกอบด้วยเขตคลองสามวา บางกะปิ สะพานสูง หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง บึงกุ่ม ประเวศ และคันนายาว มีประชากรทุกสิทธิรักษาพยาบาล 1,463,369 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีสิทธิบัตรทอง 777,453 คน ซึ่งในระบบบัตรทองมีหน่วยบริการรองรับบริการดังนี้ คลินิกชุมชนอบอุ่นและหน่วยบริการปฐมภูมิภาครัฐ 64 แห่ง คลินิกเวชกรรม จำนวน 19 แห่ง และโรงพยาบาลรับส่งต่อ 4 แห่ง ได้แก่ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์, รพ.ลาดกระบัง, รพ.สิรินธร และ รพ.นพรัตน์ราชธานี   

“การดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก ด้วยโรงพยาบาลรองรับในพื้นที่ซึ่งมีจำกัด จำเป็นต้องวางระบบกระจายบริการระดับปฐมภูมิ พร้อมจัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มเติมรองรับ โดยขณะนี้มีหน่วยบริการปฐมภูมิอยู่ระหว่างการสมัคร 5 แห่ง นอกจากนี้มีร้านยาที่ สปสช. ร่วมกับสภาเภสัชกรรมเข้ามาเสริมการบริการอีกจำนวน 103 แห่ง อย่างไรก็เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. อย่างเป็นระบบ สปสช. จะนำข้อมูลทั้งหมดมาหารือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อกระจายบริการปฐมภูมิรองรับดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว 

 

รายชื่อหน่วยบริการปฐมภูมิโซนกรุงเทพตะวันออกสำหรับผู้ป่วยนอกสิทธิบัตรทองhttps://www.nhso.go.th/downloads/203

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand