ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยการบริหารจัดการเงินบำรุงปี 2566 มอบ “นพ.สสจ. - ผอ.รพ.” แต่ละจังหวัดดำเนินการตามแผนฯ ตั้งกรอบไว้เบื้องต้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่ตัวเลขจริงต้องรอผู้ตรวจราชการฯติดตามอีกครั้ง

 

เมื่อวันที่  1 พ.ย.2565  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กรณีการบริหารจัดการเงินบำรุงของสถานพยาบาลที่เพิ่มขึ้นราว 130,000 ล้านบาท ว่า  ที่ผ่านมาได้มอบนโยบายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลแต่ละจังหวัดในการดำเนินการบริหารจัดการงบประมาณเงินบำรุง ซึ่งได้มอบผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจในการบริหารจัดการภายในเขตสุขภาพนั้นๆ โดยหลัก  คือ 1.ต้องจ่ายหนี้ ค่ายา ค่าบุคลากร 2.ค่าก่อสร้างการปรับปรุงสถานพยาบาล อันไหนเก่าทรุดโทรมต้องปรับปรุง 3.เรื่องสิ่งแวดล้อม บ่อบำบัดน้ำเสีย รวมถึงสถานพยาบาลที่มีปัญหาอุทกภัยก็ใช้งบตรงนี้ และสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอื่นๆ เช่น ที่จอดรถ เรื่องบ้านพักคอยญาติ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามกรณีเงินบำรุงมีประมาณ 1.3 แสนล้านบาทเมื่อหักลบหนี้เหลือเท่าไหร่ในการบริหารจัดการได้ นพ.โอภาส กล่าวว่า  ตั้งกรอบในปี 2566 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการบริหารจัดการเงินบำรุง จึงตั้งกรอบไว้เบื้องต้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่ตัวเลขจริงต้องรอผู้ตรวจราชการฯติดตามอีกครั้ง

เมื่อถามว่ามีการเก็บข้อมูลสถานพยาบาลที่ต้องมีการปรับปรุงกี่แห่ง นพ.โอภาส กล่าวว่า  ขณะนี้มอบผู้ตรวจราชการฯ พิจารณาตามเขตสุขภาพของตนเอง พร้อมทั้ง นพ.สสจ. สำรวจพื้นที่ตนว่า มีกี่แห่งอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพว่า จะมีการใช้เงินบำรุงเป็นไปตามแผนอย่างไรบ้าง

ถามกรณีการก่อสร้างอาคารต่างๆ มีปัญหาล่าช้า จะป้องกันปัญหาตรงนี้อย่างไร ปลัดสธ. กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการปรับปรุง ก่อสร้างที่ไม่ซับซ้อน เช่น บ้านพักบุคลากร ก็จะเป็นพื้นที่ในรพ.อยู่แล้ว และมีแบบปกติอยู่แล้ว อีกทั้ง จะให้ดูว่า ส่วนไหนทรุดโทรมจนปรับปรุงไม่ได้ก็ให้สร้างใหม่ แต่ทั้งหมดต้องดูตามราย รพ. เพราะแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ซึ่งรายละเอียดจะให้ทางนพ.สสจ.มาดูแล และให้ผู้ตรวจฯ กำกับในเขตสุขภาพต่อไป