ที่ประชุม บอร์ด สปสช. รับทราบความคืบหน้ากรณีจัดสรรค่าบริการให้สถานีอนามัย-รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไป อบจ. ในปีงบประมาณ 66 โดยการดำเนินการยังคงเหมือนเดิม ขณะนี้รอข้อตกลงแต่ละจังหวัด โดย สปสช. พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับหน่วยบริการ-ประชาชน 

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติรับทราบความคืบหน้าการจัดสรรค่าบริการสาธารณสุขแก่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่จะถ่ายโอนไปยังองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) ในปีงบประมาณ 2566 ทั้งหมด 49 จังหวัด จำนวน 3,264 แห่ง

สำหรับการดำเนินที่ผ่านมาเป็นไปตามมติ บอร์ด สปสช. ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 ซึ่งได้เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามนโยบายการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข โดยมีหลักการว่า รพ.สต. ยังคงสถานะเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นเครือข่ายหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้มีการถ่ายโอนไปยัง อบจ.
 
นอกจากนี้ทางเลือกรูปแบบการจัดสรรงบกองทุนฯ ให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ 1. จัดสรรงบผ่านหน่วยบริการประจำ (CUP) ซึ่งมีการดำเนินอยู่แล้วในขณะนี้ 2. โอนงบประมาณโดยตรงให้กับ รพ.สต. ภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกับหน่วยบริการประจำ 3. ทางเลือกอื่นๆ โดยแต่ละแห่งสามารถเลือกเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการเหมือนกันทุกแห่ง  

ทั้งนี้ โดยยึดหลักจากประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 ซึ่งได้กำหนดแนวทางไว้ว่า รายได้ของสถานีอนามัยและ รพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอนให้แก่ อบจ. จะมีรายได้จากหน่วยบริการประจำแม่ข่ายที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยให้หน่วยบริการประจำแม่ข่ายจัดสรรให้ตามหลักเกณฑ์ที่แต่ละเครือข่ายได้ทำข้อตกลงที่กำหนดไว้ โดยต้องมีความเสมอภาค และเท่าเทียมกับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางคณะทำงานของ สปสช. ได้ขอให้ทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำการศึกษาและมานำเสนอ ซึ่งเมื่อได้รับทราบผลการศึกษาแล้ว ได้ขอให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มติม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำในอนาคต อย่างไรก็ดีทาง สปสช. จะยังคงดำเนินการตามที่ บอร์ด สปสช. ได้มีมติเห็นชอบไว้แล้ว 

รวมถึง สปสช. ได้ปรึกษากับคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายฯ และได้ความเห็นว่า แนวทางขณะนี้อาจไม่ต้องแก้ไขประกาศเพิ่มเติม เนื่องจากสามารถจ่ายได้ตามประกาศการบริหารงบกองทุนฯ ที่มีอยู่ ส่วนกรณีถ้าสามารถตกลงกับทางหน่วยบริการเพื่อจ่ายให้กับทาง รพ.สต. โดยตรง ก็สามารถทำได้ตามมติ บอร์ด สปสช.ที่ผ่านมา รวมถึงหากในอนาคตมีแนวทางเพิ่มเติมสามารถดำเนินการเพื่อออกประกาศเพิ่มเติมได้ 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 ยังมีมติจากคณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระดับประเทศ ครั้งที่ 9/2565 โดยได้เห็นชอบให้มีการจัดสรรงบประมาณในปี 2566 ผ่านหน่วยบริการประจำ (CUP) โดยสามารถจ่ายต่อให้กับหน่วยบริการที่ถ่ายโอนตามความตกลงกับคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ในแต่ละแห่ง รวมถึงให้ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ สปสช. กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) และ อบจ. ติดตามและประเมินผลเพื่อลดความความเสี่ยงของผลกระทบต่อบริการประชาชนและหน่วยบริการ 

นพ.อภิชาติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ความคืบหน้าล่าสุดคือเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 ทาง สธ. ได้มีหนังสือถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ขอให้ดำเนินการภารกิจถ่ายโอนโดยให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด และดูแลสนับสนุนการแก้ไขปัญหา รวมถึงยังคงสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ตามความเหมาะสมเหมือนเดิม อีกทั้งจะมีการตั้งศูนย์เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น 

“เพราะฉะนั้นการดำเนินการในตอนนี้ยังเหมือนอยู่ เพียงแต่ว่ากำลังให้มีการตกลงมาจากแต่ละจังหวัด ถ้ามีการตกลงเพิ่มเติมอย่างไร ทาง สปสช. จะนำมาพิจารณาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งหนึ่ง และรายงานต่อที่ประชุมต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. ระบุ 

 

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330  
2.ช่องทางออนไลน์ 
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand