รองนายกฯ จ.กระบี่ เผย หลังถ่ายโอนรพ.สต.ปี 67 อบจ.พบปัญหาเรื่อง "งบประมาณ-การจัดหาบุคลากร-ระเบียบการใช้เงินบํารุงฯ" คาดสมาคมอบจ.เตรียมถกเรื่องนี้ เร่งให้สํานักงบจัดสรรงบประมาณตามประกาศ ก.ก.ถ. ชี้หากไม่ดําเนินการตามนี้ถือว่าผิดกฎหมาย
วันที่ 30 พ.ย. 2566 นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ว่า สำหรับเรื่องปัญหาอุปสรรค ประเด็นแรก คือ เรื่องของระเบียบต่างๆที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขเพื่อรองรับการถ่ายโอนฯ ซึ่งความจริงในประกาศคณะกรรมการกระจายอํานาจในการถ่ายโอนรพ.สต. ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแก้ไขระเบียบ หนังสือสั่งการ หรือกฎต่างๆที่เป็นอุปสรรค ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไข อย่างเช่น กรณีของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) ที่ยังไม่มีตําแหน่งในท้องถิ่นรองรับแต่เป็นบุคลากรที่ถ่ายโอนมา อีกทั้งในเรื่องของโครงสร้างการปรับตำแหน่งต่างๆ ก็ยังไม่สอดคล้อง เช่น จพ.ทันตาภิบาล ที่ขณะนี้ไม่ผลิตกันแล้ว สถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่ผลิตแล้วแต่ยังคงบรรจุอยู่โครงสร้างอัตรากําลังของ รพ.สต. ซึ่งทําให้เป็นอุปสรรค คือ อบจ.ไม่สามารถจัดหาบุคลากรมาบรรจุได้ เป็นต้น
รวมทั้งเรื่องระเบียบอื่นๆ เช่น ระเบียบการใช้เงินบํารุงของกระทรวงมหาดไทย ฉบับปี 60 และแก้ไขปี 61 ยังไม่ได้มีการปรับปรุงเพราะว่าตอนที่กําหนดไว้ในปี 60 ยังไม่มีการถ่ายโอนมาที่ อบจ. จึงเป็นปัญหาอุปสรรคในเรื่องของการใช้เงินบํารุง เช่น การจัดจ้างพนักงานโดยใช้เงินบํารุง จะจ้างได้เฉพาะรายคาบ รายวัน แล้วก็รายเดือน ส่วนรายปีจ้างไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ค่อนข้างเสียเปรียบในการที่จะจ้างรายวันรายเดือน รวมทั้งกรณีที่จะซื้อวัสดุพัสดุต่างๆ จะต้องให้สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผู้พิจารณาทั้งหมด ซึ่งยังเป็นประเด็นอยู่ว่าบางทีของเล็กๆน้อยๆราคาแค่ 2,000 พัน ก็ต้องเข้าสภาฯ ซึ่งควรจะมีลิมิต
และอีกเรื่องคือเรื่องของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้เดินทางไปราชการในกรณีที่บุคลากรของ รพ.สต. จะต้องไปปฏิบัติราชการภายในจังหวัดนั้น ก็ยังเป็นอํานาจของผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ เรื่องนี้ควรจะแก้ไขให้เป็นอํานาจของ ผอ.รพ.สต.เพราะว่าถ้ามีการประชุมภายในจังหวัดหรือในอําเภอก็ต้องส่งมาให้นายกฯเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งมันเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติ เพราะบางพื้นที่ห่างไกล กว่าหนังสือจะมาถึง แต่ถ้าให้ ผอ.รพ.สต.ดําเนินการเองได้มันก็จะสะดวกกว่า
ประเด็นที่ 2 เรื่องของงบประมาณ ตามประกาศคณะกรรมการกระจายอํานาจการถ่ายโอนรพ.สต. นอกจากในหมวดของเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆที่จะต้องโอนมากับตัวบุคคลของ รพ.สต. แล้วนั้น เงินอุดหนุนตามภารกิจถ่ายโอนไม่เป็นไปตามที่ประกาศ คือ s/m/l 1 ล้าน/1.5 ล้าน / 2 ล้าน ซึ่งได้รับคําชี้แจงว่างบประมาณของประเทศมีจํากัดซึ่งเราก็เข้าใจ แต่ตอนนี้มีปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามาอีก ในเรื่องของงบประมาณในการจ้างบุคลากร คือ ในปีงบประมาณ 67 ที่ผ่าน ปรากฏว่าบุคลากร ที่อบจ.ได้บรรจุเข้าไปทํางานหลังจากรับถ่ายโอนมาแล้วเมื่อปี 66 นั้น
การจัดสรรงบประมาณถ่ายโอนรพ.สต.
ตามหลักการเดิม ถ้า อบจ.บรรจุระหว่างปีให้จ่ายเงินไปก่อน เมื่อถึงปีงบประมาณก็จะสามารถคีย์ในระบบเพื่อขอรับการอุดหนุนจากสํานักงบประมาณได้แต่ปรากฏว่าในงบปี 67 สํานักงบไม่จัดงบประมาณส่วนนี้ให้ โดยไห้ใช้งบของอบจ.เอง ซึ่งเรื่องนี้สําคัญมาก เพราะว่าการถ่ายโอน รพ.สต. ทางคณะกรรมการกระจายอํานาจฯ ได้กําหนดโครงสร้างอัตรากําลังไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า รพ.สต.ที่รับถ่ายโอนมีอัตรากําลัง ระดับ S 7 ตําแหน่ง ระดับ M 12 และระดับ L 14 นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขต่อไปว่า การบรรจุพนักงานให้ครบ 7 ,12, 14 ให้สํานักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆให้กับบุคลากรเหล่านี้ แต่ปรากฏว่าสํานักงบฯไม่ได้จัดงบส่วนนี้ให้ จะให้เฉพาะเงินเดือนของบุคลากรที่ถ่ายโอนมาพร้อมกับ รพ.สต.เท่านั้น ดังนั้นถือเป็นปัญหาใหญ่ของ อบจ. แน่นอน
เพราะว่าถ้าสํานักงบฯ ดําเนินการในลักษณะนี้ ประการแรก คือ อบจ.ต้องใช้งบประมาณรายได้ของตัวเองไปจ้าง ประการที่ 2 คือ พ.ร.บ.บริหารงานบุคคลท้องถิ่นมาตรา 35 ระบุไว้ว่าการจ้างพนักงานการจ้างข้าราชการในหมวดค่าตอบแทนและเงินเดือนอื่นๆ จะต้องไม่เกิน 40% ของบประมาณประจําปีเพราะฉะนั้นถ้าอบจ.ต้องมาจ้างเอง เชื่อว่าหลายอบจ.จะมีปัญหาในข้อกฎหมายข้อนี้แน่นอน ประการที่ 3 คือ การที่สํานักงบไม่จัดสรรงบให้ถือเป็นการทําผิด พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ 2561 มาตรา 29 วรรค 2 ฯ
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้คณะกรรมการกระจายอํานาจได้กําหนดไว้แล้วว่า ให้สํานักงบจัดสรรงบประมาณในเรื่องของการจ้างพนักงาน ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายโอนมาหรือบรรจุใหม่ ให้เป็นหน้าที่สํานักงบฯ ซึ่ง ก.ก.ถ. ก็ได้ออกประกาศเขียนระบุไว้ชัดเจนแล้ว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่มีการประชุมคณะกรรมการกระจายอํานาจ ที่มี ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็ได้มีมติเรื่องนี้ชัดเจนว่าให้สํานักงบจัดงบประมาณสําหรับบุคลากรที่บรรจุ ไม่ว่าจะเป็นที่มาพร้อมกับ รพ.สต. และ ที่อบจ.บรรจุไว้ในโครงสร้างอัตรากําลัง 7 ,12, 14 หากสํานักงบไม่ดําเนินการตามนี้ก็ถือว่าผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ หลังจากนี้สมาคมอบจ.ก็ต้องพูดคุยกันเรื่องนี้ ถ้าหากการเจรจาพูดคุยกันยังไม่ดําเนินการให้ถูกต้อง ก็อาจจะต้องไปถึงศาลเพราะว่าปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ ต้องดําเนินการตามกฎหมาย
"สุดท้ายที่ยังเป็นปัญหาอยู่ คือ เรื่อง โรงพยาบาลแม่ข่าย (CUP) จะต้องดำเนินการจ่ายเงินที่ยังคงค้างจ่าย (เงินค้างท่อ) ซึ่งเป็นเงินบำรุงจากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้แก่ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. ในปีงบประมาณ 2566 ปรากฏว่า ติดขัดระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่ให้โอนข้ามสังกัด ซึ่งตอนนี้เงินเหล่านั้นก็ยังค้างอยู่ใน CUP ต่างๆ ที่ สปสช.โอนมาให้ แต่ไม่สามารถโอนมายัง รพ.สต. ที่ถ่ายโอนมาสังกัดอบจ.ได้ ซึ่งเป็นเงินจํานวนหลายร้อยล้านเหมือนกัน หนึ่งปีที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ไขให้เป็นรูปธรรมเลย" นายกิตติชัย กล่าว
- 388 views