นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การกินเจติดต่อกันเป็นเวลา 9 วัน ส่งผลให้ร่างกายมีการปรับสภาพของระบบการย่อยอาหาร จากที่ย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผักเป็นหลักแทน เมื่อหลังออกเจในช่วง 2-3 วันแรก ประชาชนควรปรับสภาพร่างกายด้วยการกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ประเภทเนื้อปลา ไข่ นม ผักและผลไม้ ให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เลือกรสไม่จัด เลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม และอาหารย่อยยากอย่างเนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อวัว เนื้อหมู เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับระบบการย่อยอาหารจากพืชผักมาเป็นเนื้อสัตว์ในช่วงแรก เพราะหากบริโภคอาหารที่ย่อยยากหรืออาหารตามปกติเลย อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง  และย่อยอาหารได้ไม่ดี โดยเมนูอาหารย่อยง่าย อาทิ ไข่ตุ๋นทรงเครื่อง ปลานึ่งขิง แกงจืดเต้าหู้ไข่ใบตำลึง สำหรับผู้ที่ต้องการ จะกลับมาดื่มนมวัวหลังออกเจ แนะนำให้เริ่มดื่มครั้งละน้อย ประมาณครึ่งแก้ว และสามารถเพิ่มเป็นครั้งละ 1 แก้วได้ ในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือดื่มนมหลังอาหารขณะที่ท้องไม่ว่าง หรือดื่มนมในช่วงสายหรือช่วงบ่าย   ในมื้ออาหารว่าง หรือเลือกผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการย่อยน้ำตาลแลคโตสบางส่วนโดยจุลินทรีย์ เช่น โยเกิร์ต หรืออาจดื่มนมถั่วเหลืองทดแทนไปก่อน เมื่อรู้สึกว่าร่างกายสามารถปรับสภาพการย่อยอาหารกลับสู่ภาวะเดิมได้แล้ว   ก็สามารถกินอาหารและดื่มนมได้ตามปกติ

​“ทั้งนี้ หลังจากออกเจ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ดีขึ้น โดยกินอาหารที่มีประโยชน์ครบมื้อ แต่ละมื้อให้ครบ 5 หมู่ หลากหลายชนิดในปริมาณที่เหมาะสม กินข้าวและแป้งแต่พอดี ควรเลือกเป็นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ หรือธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา กินไข่ ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ เพิ่มผักใบเขียว และกินผลไม้ไม่หวานจัด เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินความจำเป็น รวมทั้งดื่มนมรสจืดเป็นประจำ และดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org