ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยเงินบำรุงเพิ่มจาก 3 หมื่นล้าน เป็นกว่าแสนล้านบาท เหตุโควิด ชี้ให้ผอ.รพ.ทุกแห่งทำแผนภายใน 1 เดือน ขอให้ใช้เกิดประโยชน์ที่สุด อันดับแรกเคลียร์หนี้ ทั้งหนี้บุคลากร จ่ายค่าโอที ค่าต่างๆ และหนี้ยา เวชภัณฑ์ จากนั้นวางแผนพัฒนาสร้างสิ่งก่อประโยชน์ปชช. ทั้งลานจอดรถ และพัฒนาระบบดิจิทัลทางการแพทย์ ส่วนค่าเสี่ยงภัย - บรรจุขรก.รอบสองจะเร่งติดตาม
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมมอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุขต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลาง และผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้บริหารส่วนภูมิภาค ภายหลังเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า ขอให้บุคลากรสาธารณสุขทุกคนยึดตามพระราชดำรัส สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย ที่ “ให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” เป็นปณิธานในการทำงานร่วมกัน ซึ่งช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา ทุกคนได้ร่วมแสดงพลังต่อสู้วิกฤต พิสูจน์ให้เห็นถึงความเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขและระบบสาธารณสุขไทย จนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า จริงๆ ก่อนหน้าโควิดเราจะเห็นบุคลากรสาธารณสุข น้องๆของเรามาเรียกร้องที่กระทรวงฯเป็นเนืองๆ แต่เมื่อมีโควิด เราได้รับความกรุณาจากท่านนายกรัฐมนตรี โดยการผลักดันของท่านรองนายกฯและรัฐมนนตรีว่าการสธ.ทำให้มีการบรรจุข้าราชการโควิดราว 4.5 หมื่นอัตรา แต่ปัญหาก็ยังไม่หมด อย่างปัญหาเชิงปริมาณ เราอาจน้อยลง แต่การกระจายตัว และความก้าวหน้าในการรับราชการก็ต้องมีการดำเนินการ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพความรู้ใหม่ๆ ในการดำเนินงาน ซึ่งสถาบันพระบรมราชชนกก็จะมาช่วยพัฒนาศักยภาพตรงนี้
สำหรับเรื่องเงินบำรุงนั้น ขณะนี้เราไม่มีปัญหา รพ.วิกฤตระดับ 7 ถือว่าเป็นศูนย์ ขอให้เป็นเช่นนั้นตลอดไป ซึ่งเรามีเงินบำรุงของแต่ละหน่วยรพ. ที่จะทำให้ รพ.เป็นของประชาชน โดยประชาชนเมื่อมาแล้วรู้สึกเป็นเจ้าของ และมาแล้วรู้สึกได้ประโยชน์กลับไป ไม่ใช่แค่มาตอนเจ็บป่วย แต่ยังมีเรื่องกิจกรรมส่งเสริมป้องกัน ควบคุมโรค ทำยังไงให้รพ.ประชาชนมาแล้วเกิดความสะดวกสบาย
“เดิมติดปัญหางบประมาณ จะทำอะไรก็ติดระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง แต่โควิดทำให้สถานะการเงินภาพรวมของรพ. ดีขึ้น จากเดิมมีเงิน 3 หมื่นล้านบาท ตอนนี้เงินบำรุงเพิ่มเป็น 1.3 แสนล้านบาท ขอให้ใช้ให้เกิดประโยชน์ ประการแรก อันไหนติดหนี้ติดสินต้องใช้ก่อน ซึ่งหนี้สินอันไหนเป็นของบุคลากรต้องเคลียร์ให้เสร็จภายใน 1 เดือน ค่าโอที ค่าต่างๆทั้งหลายเคลียร์ให้เสร็จ ส่วนหนี้ค่ายา วัสดุอุปกรณ์ก็ต้องเคลียร์ให้เสร็จด้วย” ปลัดสธ. กล่าว
นพ.โอภาส ย้ำว่า ขอให้แต่ละรพ. นพ.สสจ.ช่วยติดตามดูในส่วนของรพ. และผอ.รพ. ขอให้วางแผนเงินบำรุงใช้ไปข้างหน้า 3 ปี ขอให้ 1 เดือนวางแผนให้เสร็จ โดยเฉพาะความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ อย่างหากมีบ้านพักเพียงพอก็ไม่ต้องเดินทางไปไกลๆ ยิ่งกลางคืน และความเป็นอยู่ของพี่น้องเรา การสร้างบ้านพัก สิ่งที่เหมาะสมคือ สร้างเป็นแฟลต มีสเปซให้พวกเขาได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีอินเตอร์เน็ต ไวไฟให้พวกเขาด้วย
ส่วนเรื่องรพ.โดยเฉพาะในจังหวัด ซึ่งปัจจุบันการเดินทางมีรถยนต์ ยังติดเรื่องรพ.หลายที่ไม่มีที่จอดรถ เวลาของบสร้างที่จอดรถก็จะไม่ได้ ตอนนี้มีเงินบำรุงก็ทำได้ และในเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างการติดโซลาร์เซลล์ โซลาร์ลูป ในการประหยัดงบประมาณ ค่าไฟฟ้าในอนาคตถูกๆคงไม่มี จึงจะทำอย่างไรให้รพ. นำเงินบำรุงมาแปลงสร้างโซลาร์เซลล์ให้เป็นรูปธรรม ขอให้มีแผนจัดการเรื่องนี้ใน 2-3 เดือน และภายใน 1 ปีรพ.ทุกแห่งต้องมีโซลาร์เซลล์ หรือโซลาร์ลูป ซึ่งจะช่วยลดคาร์บอนได้ นอกจากนี้ หลายรพ.มีปัญหาจัดการน้ำเสียก็ต้องดำเนินการ และเมื่อมีงบประมาณที่เหลือก็ควรนำมาพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ต้องสอดคล้องกับเซอร์วิสแพลน
"ขอให้ทุกหน่วยงานนำนโยบายสู่ปฏิบัติ และขอให้ยึดหลักปฏิบัติในการทำงาน 4T ได้แก่ Trust สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประชาชน เจ้าหน้าที่ ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายต่างประเทศและเครือข่าย, Teamwork &Talent ทำงานเป็นทีม สนับสนุนคนเก่ง, Technology ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และ Targets ทำงานแบบมุ่งเป้าหมาย จัดการทรัพยากรให้เกิดผลิตภาพและบริการที่มีคุณค่า ขณะที่บุคลากรมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีขึ้น มีความสมดุลของชีวิตกับการทำงาน สามารถยืดหยุ่นปรับตัวได้ในภาวะวิกฤต และขอให้ดำเนินการ "ททท" คือ “ทำทันที” “ทำต่อเนื่อง” “ทำและพัฒนา”..” ปลัดสธ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีเงินค่าเสี่ยงภัยและบรรจุข้าราชการโควิดรอบสองจะเร่งติดตามอย่างไร ปลัดสธ. กล่าวว่า เรื่องนี้จะมีการติดตามเช่นกัน
(ข่าวเกี่ยวข้อง : มุมมอง ชมรม รพศ.รพท. ต่อนโยบายปลัด สธ. กรณีเงินบำรุงเพิ่ม! โอกาสเคลียร์หนี้-พัฒนาระบบบริการ-ปรับปรุงที่พักจนท.)
- 4295 views