สพฉ.แจงชัด!  1 ต.ค.65 ป่วยโควิดสีแดงเข้าข่ายวิกฤตฉุกเฉิน หรือ ยูเซปพลัส ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เข้ารพ.เอกชน กรณีอาการเหลือง เขียวไม่เข้าเกณฑ์ แต่สามารถรักษาได้ฟรีตามสิทธิ์แต่ละกองทุน พร้อมออกประกาศเกณฑ์ต่างๆ  30 ก.ย.นี้ หากมีข้อสอบถามติดต่อศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต  โทร.02-872-1669 

 

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แถลงข่าวประเด็นสิทธิ์ UCEP Plus หลังโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ว่า  นโยบายสิทธิ์ยูเซป(UCEP) เป็นนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ จากเดิมที่เจ็บป่วยฉุกเฉินแล้วเข้าโรงพยาบาล(รพ.) เอกชน ทำให้มีค่าใช้จ่าย แต่หลังจากมีการประกาศใช้ยูเซป ทำให้ประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยกองทุนต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบให้ ทั้งนี้ สพฉ.มีหน้าที่ประเมินเพื่อคัดแยกผู้ป่วยวิกฤต ซึ่งหากไม่เข้าเกณฑ์ก็จะมีค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ช่วงโควิด-19  ได้ปรับเปลี่ยนจากยูเซป เป็นยูเซปโควิด-19(UCEP Covid-19) เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในทุกกลุ่ม ประชาชนจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แม้จะเป็นการดูแลจากที่บ้านหรือชุมชน(Home and Community Isolation) แต่หลังจากที่รัฐบาลประกาศยกเลิกยูเซปโควิด-19 เมื่อเดือนมี.ค.65 ซึ่งมีกลไกของยูเซปพลัส(UCEP Plus) เข้ามาแทน ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. จนถึงปัจจุบัน เป็นการใช้ยูเซปเดิมมาบวกกับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการกลุ่มสีเหลืองและแดง ขณะที่ค่าใช้จ่ายไม่ครอบคลุมกลุ่มสีเขียวแล้ว  โดยให้เป็นการรักษาตามสิทธิของประชาชนตามปกติ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการให้บริการยูเซปพลัส ผู้ป่วยสะสม 383,258 ราย กลุ่มที่เข้าเกณฑ์ 81,304 ราย ส่วนกลุ่มไม่เข้าเกณฑ์อีก 301,954  ราย ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งกลุ่มนี้ถ้าเข้ารพ.รัฐบาลจะไม่มีค่าใช้จ่าย

“จากการที่รัฐบาลประกาศให้โรคติดเชื้อโควิดเป็นโรคติตต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ทำให้เกิดกลไกปรับปรุงเกณฑ์ยูเซปพลัสใหม่  แต่ขอย้ำว่า ยังมียูเซปอยู่ แต่เกณฑ์พิจารณาเข้าสู่การคัดแยกปรับลดลงในบางส่วน เช่น กลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ติดโควิดแบบไม่มีอาการ เดิมถือเป็นกลุ่มสีเหลืองและเข้ายูเซปพลัส แต่เกณฑ์ใหม่จะตัดกลุ่มที่ไม่มีอาการออกไป ซึ่งกลุ่มที่มีอาการ เช่น ตรวจพบเชื้อบวกกับภาวะหัวใจหยุดเต้น ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น หอบเหนื่อย หรือมีภาวะทำให้ระบบทางเดินหายใจรุนแรง ภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำที่เกิดจากการติดเชื้อหรือเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด รวมถึงอาการที่นำไปสู่การเสียชีวิตโดยเร็ว ก็ยังเข้าเกณฑ์ยูเซปพลัสอยู่” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ภายในวันที่ 30  ก.ย. สพฉ. จะออกประกาศเกณฑ์ที่เป็นรายละเอียดและแจ้งให้ประชาชน สถานพยาบาลรับทราบเกณฑ์เดียวกัน ทั้งนี้ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพื่อดูแล เป็นตัวกลางระหว่างผู้ป่วยกับสถานพยาบาล หากมีข้อคิดเห็นไม่ตรงกัน เราก็จะให้คำแนะนำและวินิจฉัย สามารถติดต่อที่เบอร์ 02-872-1669 

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ  กล่าวว่า  สำหรับยูเซปที่ไม่ใช่การติดเชื้อโควิดจะมีเรื่องของเวลามาเกี่ยวข้อง คือ การเข้ารพ.เอกชนจะต้องดูแลใน 72 ชั่วโมงแรกของการรักษา แต่หากเป็นยูเซปพลัส จะต่างเล็กน้อยคือ การติดเชื้อมีอาการรุนแรงแล้วเข้า รพ.เอกชนที่รับรักษาจะต้องดูแลจนกว่าจะหาย ไม่ได้จำกัดเพียง 72 ชั่วโมงแรก หรืออีกกรณี คือ ไปรพ.ด้วยสาเหตุอื่น แต่ไปติดเชื้อที่ รพ. ก็จะเข้าเกณฑ์ทันที ขณะเดียวกัน อัตราที่จะจ่ายให้รพ.เอกชน กรณียูเส็ปพลัสจะจ่ายเพิ่มขึ้น 25% จากยูเซปปกติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีคนที่ป่วยโควิดมีอาการรุนแรง และมองว่าตนอยู่ในข่ายอาการวิกฤตสีแดง แต่แพทย์อาจไม่คิดเช่นนั้น จะมีการแยกหรืออธิบายอาการให้ชัดเจนหรือไม่..

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป การจะเข้ายูเซปพลัสได้จะต้องมีอาการสีแดงเท่านั้น เรียกว่า แดงโควิด เป็นผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน สามารถรักษาได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้องรักษาจนหาย ไม่มีข้อจำกัดทางเวลา ส่วนอาการเกณฑ์ต่างๆ ทาง สพฉ.จะออกประกาศภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อมาได้ที่ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของสพฉ. โทร.02-872-1669